พิมพ์


พระราชบัญญัติความรับผิดทางแพ่งและค่าเสียหายจากเรือโดนกัน พ.ศ. 2548


ฉบับเต็ม คลิกที่นี่

              พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติที่ใช้บังคับเกี่ยวกับกิจกรรมการใช้ทะเลคือ

              มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

“เรือ” หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด

“เรือเดินทะเล” หมายความว่า เรือที่มีลักษณะสำหรับใช้ในทะเลตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย

“เรือโดนกัน” หมายความว่า การปะทะกันระหว่างเรือเดินทะเล หรือการที่เรือเดินทะเลปะทะกับเรือลำอื่น ทำให้เกิดความเสียหายแก่เรือ ทรัพย์สิน หรือบุคคลบนเรือที่ปะทะกันลำหนึ่งลำใดหรือทุกลำ และให้หมายความรวมถึงการที่เรือเดินทะเลได้ก่อหรือได้รับความเสียหายดังกล่าว โดยมีสาเหตุจากการปฏิบัติการหรืองดเว้นปฏิบัติการเกี่ยวกับการบังคับหรือการควบคุมเรือ หรือการฝ่าฝืนกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการเดินเรือ แม้ว่าเรือจะมิได้มีการปะทะกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าเหตุจะเกิดขึ้นในน่านน้ำใดก็ตาม

             มาตรา 15  ในกรณีที่เรือเสียหายโดยสิ้นเชิง หรือเรือได้รับความเสียหายจนค่าใช้จ่ายในการทำให้เรือกลับคืนสู่สภาพเดิมสูงกว่ามูลค่าของเรือในเวลาที่เรือโดนกัน ค่าเสียหายอันพึงเรียกได้ให้รวมถึงราคาเรือตามมูลค่าในเวลาที่เรือโดนกัน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงประเภท อายุ สภาพ ลักษณะการใช้งาน ราคาแห่งมูลประกันภัย  ราคาเรือที่มีสภาพคล้ายคลึงกัน และปัจจัยอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรือนั้น

นอกจากค่าเสียหายตามวรรคหนึ่ง ค่าเสียหายอันพึงเรียกได้ ให้รวมถึงค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้

(1)  ค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อการช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล การเฉลี่ยความเสียหายทั่วไป ค่าภาระและค่าใช้จ่ายอันควรอย่างอื่นที่เกิดขึ้นเพราะเรือโดนกัน

(2)  ค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายให้แก่บุคคลภายนอกตามสัญญา โดยผลของกฎหมายหรือหนี้ตามกฎหมายอย่างอื่นเพราะเรือโดนกัน

(3)  ค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าเชื้อเพลิงบนเรือและอุปกรณ์ประจำเรือที่สูญหายหรือเสียหายจากเรือโดนกันที่ไม่ได้รวมอยู่ในการประเมินราคาเรือตามวรรคหนึ่ง

(4)  ค่าใช้จ่ายจากการขาดรายได้ในค่าระวาง ค่าเช่า ค่าโดยสารหรือค่าตอบแทนอย่างอื่นที่จะได้รับตามสัญญาหรือจากการที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเรือ ทั้งนี้ ให้หักค่าใช้จ่ายอันจะเกิดขึ้นหากมีการปฏิบัติตามสัญญาหรือใช้ประโยชน์จากเรือนั้นออกเสียก่อน

             มาตรา 18  ในกรณีที่ทรัพย์สินบนเรือเป็นสินค้า ค่าเสียหายอันพึงเรียกได้มีดังนี้

(1)  กรณีทรัพย์สินนั้นสูญหาย ความเสียหายคำนวณจากการใช้ราคาท้องตลาดในเวลา และ ณ ท่าปลายทางที่ทรัพย์สินควรจะได้มาถึง หักด้วยค่าใช้จ่ายใดๆ ที่จะเกิดขึ้นหากทรัพย์สินนั้นไปถึงท่าปลายทาง ถ้าไม่สามารถกำหนดราคาท้องตลาดดังกล่าวได้ มูลค่าของทรัพย์สินคำนวณจากราคาที่บรรทุกลงเรือ บวกด้วยค่าระวางและค่าใช้จ่ายในการประกันภัยที่ฝ่ายที่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้จ่ายไปบวกด้วยส่วนเพิ่มซึ่งประเมินในอัตราไม่เกินร้อยละ ๑๐ ของมูลค่าทรัพย์สินตามที่คำนวณข้างต้น

(2)  กรณีทรัพย์สินนั้นเสียหาย ความเสียหายคำนวณจากผลต่างระหว่างมูลค่าทรัพย์สิน ณ ท่าปลายทางในสภาพปกติกับมูลค่าในสภาพที่เสียหาย

(3)  กรณีทรัพย์สินนั้นเสื่อมสภาพอันเนื่องมากจากความล่าช้าของการเดินทางหลังจากที่เรือโดนกัน ความเสียหายอันพึงเรียกได้อันเป็นผลจากเรือโดนกันให้คำนวณตาม (2) แต่ไม่รวมถึงความเสียหายจากการสูญเสียที่เกิดจากการที่ราคาท้องตลาดตกต่ำในระหว่างความล่าช้าดังกล่าว

ในกรณีที่ทรัพย์สินบนเรือเป็นทรัพย์สินอย่างอื่น ค่าเสียหายอันพึงเรียกได้รวมถึง

(1)  กรณีทรัพย์สินสูญหายหรือไม่อาจซ่อมแซมได้ ความเสียหายคำนวณจากมูลค่าของทรัพย์สินหรือค่าใช้จ่ายอันสมควรในการหาทรัพย์สินมาทดแทน

(2)  กรณีทรัพย์สินเสียหายและสามารถซ่อมแซมได้ ความเสียหายคำนวณจากค่าใช้จ่ายอันสมควรในการซ่อมแซมซึ่งต้องไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินหรือค่าใช้จ่ายอันสมควรในการทรัพย์สินมาทดแทน

             มาตรา 19  กรณีเรือโดนกันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกายหรืออนามัยของบุคคลบนเรือ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม