พิมพ์


      ที่รักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ


    ที่รักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นพื้นที่คุ้มครองที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ "พระราชบัญญัติประมง 2490" ในพระราชบัญญัตินี้ให้ความคุ้มครองสัตว์น้ำตามาตราที่เกี่ยวข้อง ดังนี้


      1. ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมง หรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่รักษาพันธุ์พืช เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด (มาตรา 9)


      2. ห้ามมิให้บุคคลใดปลูกสร้างสิ่งใดลงในที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล ที่อนุญาต ซึ่งมิใช่ที่ของเอกชนและที่สาธารณประโยชน์ หรือ ปลูกบัว ข้าว ปอ หรือพันธุ์ไม้น้ำอื่นใด ตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อในที่เช่นว่านั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ (มาตรา 17)


      3. ห้ามมิให้บุคคลใดวิดน้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล ที่อนุญาต ซึ่งมิใช่ที่ของเอกชน และที่สาธารณประโยชน์ หรือบ่อล่อสัตว์น้ำ หรือทำให้น้ำในที่จับสัตว์น้ำเช่นว่านั้นแห้งหรือลดน้อยลง เพื่อทำการประมง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด (มาตรา 18)


      4. ห้ามมิให้บุคคลใด เท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้วัตถุมีพิษตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาลงไปในที่จับสัตว์น้ำ หรือกระทำการใด ๆ อันทำให้สัตว์น้ำมึนเมา หรือเท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้สิ่งใดลงไปในที่จับสัตว์น้ำในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำ หรือทำให้ที่จับสัตว์น้ำเกิดมลพิษ เว้นแต่เป็นการทดลองเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ และได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

        บัญชีวัตถุมีพิษตามท้ายประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2532[1] ประกอบด้วยวัตถุมีพิษ 12 ชนิด ได้แก่ DDT, Dieldrin, Aldrin, Heptachor, Heptachor expoxide, Carbofuran, Endrin, Chlorpyrifos, Endosulfan, Deltamethrin, Sodiumcyanide และ Potassiumcyanide


      5. ห้ามมิให้บุคคลใดใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ หรือใช้วัตถุระเบิดในที่จับสัตว์น้ำไม่ว่าในกรณีใด เว้นแต่เพื่อประโยชน์ของทางราชการหรือได้รับอนุญาตจากอธิบดี (มาตรา 20)


      6. ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสัตว์น้ำโดยรู้ว่าได้มาโดยการกระทำความผิดตามมาตรา 19 หรือมาตรา 20 (มาตรา 20 ทวิ)


      7. ห้ามมิให้บุคคลใดทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่จับสัตว์น้ำซึ่งมิได้อยู่ในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ให้ผิดไปจากสภาพที่เป็นอยู่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้ (มาตรา 21)


      8. ห้ามมิให้บุคคลใด ติดตั้ง วาง หรือสร้างเขื่อน ทำนบ รั้ว เครื่องมือที่เป็นตาข่าย หรือเครื่องมือทำการประมงอื่นๆในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งกางกั้นทางเดินของสัตว์น้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือการกระทำเช่นว่านั้นเพื่อประโยชน์แก่การกสิกรรมในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้ เช่น บันไดปลาโจนหรือเครื่องอุปกรณ์อื่นๆเพื่อให้สัตว์น้ำว่ายขึ้นลงได้ (มาตรา 22)


[1] สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง,2549

ที่มา : อนุวัฒน์ นทีวัฒนา. 2551. พื้นที่คุ้มครองทางทะเลในประเทศไทย : เป้าหมายปี ค.ศ. 2010/2012 ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ. สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง.