.

สื่อออนไลน์

Search this site

ลงทะเบียน

MKH Update

สถิติการเข้าชม



พื้นที่ป่าชายเลน


          ประเทศไทยมีขอบเขตพื้นที่ป่าชายเลนตามกฎหมาย ไม่นับพื้นที่ในทะเลและพื้นที่แม่น้ำลำคลอง พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,371,254 ไร่ โดยแบ่งรูปแบบการใช้ประโยชน์จากที่ดินในพื้นที่ป่าชายเลนได้ทั้งหมด 12 แบบ ได้แก่ พื้นที่ป่าชายเลน ป่าชายหาด ป่าพรุ ป่าดิบแล้ง เลนงอก พื้นที่เกษตร นากุ้ง นาเกลือ พื้นที่ทิ้งร้าง เหมืองแร่ ท่าเทียบเรือ และพื้นที่เมือง

          รายละเอียดเกี่ยวกับ ป่าชายเลน เบื้องต้น

          พื้นที่ป่าชายเลนในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงลดลงอย่างมาก ในปี 2504 มีพื้นที่ป่าชายเลน 2,327,228 ไร่ และในปี 2547 มีพื้นที่ป่าชายเลนเหลือเพียง 1,579,696 ไร่ ลดลง 747,532 ไร่ หรือร้อยละ 32 จากในปี 2504

        

          พื้นที่ป่าชายเลนเหล่านี้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายหลายฉบับ โดยมีกฎหมายที่สำคัญดังนี้


พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484

         มาตรา 54 ห้ามมิให้ผู้ใด ก่อสร้างแผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำการด้วยประการใดๆอันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดหรือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น เว้นแต่จะกระทำภายในเขตที่ได้จำแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรม และรัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้า หน้าที่

         การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง


พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507

          ป่าชายเลนที่ได้รับการกำหนดเป็นป่าสงวนแห่งชาติจะได้รับความคุ้มครองและการเข้าใช้ประโยชน์ของประชาชนจากพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยห้ามดำเนินกิจกรรมต่างๆที่อาจจะเป็นการเสื่อมเสียสภาพของป่าสงวนแห่งชาติ เช่น การเข้าอยู่อาศัย การก่อสร้าง การแผ้วถาง การเผาป่า การทำไม้ การเก็บหาของป่า เป็นต้น

         มาตรา 6  บรรดาป่าที่เป็นป่าสงวนอยู่แล้วตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและสงวนป่าก่อน วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้

         เมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรกำหนดป่าอื่นใดเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อรักษาสภาพป่า ไม้ ของป่าหรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น ให้กระทำได้โดยออกกฎกระทรวงซึ่งต้องมีแผนที่แสดงแนวเขตป่าที่กำหนดเป็นป่า สงวนแห่งชาตินั้นแนบท้ายกฎกระทรวงด้วย


         มาตรา 14 ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เว้นแต่

               (1) ทำไม้หรือเก็บหาของป่าตามมาตรา 15 เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยตามมาตรา 16 มาตรา 16 ทวิ หรือมาตรา 16 ตรี กระทำการตามมาตรา 17 ใช้ประโยชน์ตามมาตรา 18 หรือกระทำการตามมาตรา 19 หรือมาตรา 20

               (2) ทำไม้หวงห้ามหรือเก็บหาของป่าหวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้


          มาตรา 16  การทำไม้หรือการเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติให้กระทำได้เมื่อได้รับใบ อนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประกาศอนุญาตไว้เป็นคราว ๆ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแห่งหนึ่งแห่งใดโดยเฉพาะ

          การอนุญาตให้เป็นไปตามแบบ ระเบียบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง


พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

           ป่าชายเลนทั้งหมดที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ จะถูกคุ้มครองโดยพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฉบับนี้ การกระทำใดๆที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์และทรัพยากรธรรมชาติในเขตอุทยานแห่งชาติถือเป็นความผิดตามมาตราที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้


พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

            พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติคุ้มครองพื้นที่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และคุ้มครองชนิดพันธุ์สัตว์ตามบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองท้ายพระราชบัญญัติ ป่าชายเลนจึงได้รับการคุ้มครองเพราะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าในรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง นอกจากความคุ้มครองจาก"เขตห้ามล่าสัตว์ป่า"แล้วยังได้รับการคุ้มครองโดยจัดตั้งพื้นที่"เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า" ซึ่งมีมาตราที่เกี่ยวข้องได้แก่

            มาตรา 36  ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองหรือมิใช่ หรือเก็บหรือทำอันตรายแก่รังของสัตว์ป่า เว้นแต่จะกระทำเพื่อการศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการและได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ


            มาตรา 38  ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้ามมิให้ผู้ใดยึดถือหรือครอบครองที่ดินหรือปลูก หรือก่อสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือตัด โค่น แผ้วถาง เผา หรือทำลายต้นไม้หรือพฤกษชาติอื่น หรือขุดหาแร่ ดิน หิน หรือเลี้ยงสัตว์ หรือปล่อยสัตว์หรือสัตว์ป่า หรือเปลี่ยนแปลงทางน้ำ หรือทำให้น้ำในลำน้ำ ลำห้วย หนอง บึง ท่วมท้น เหือดแห้ง เป็นพิษ หรือเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า

            ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติการเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครอง ดูแล รักษาหรือบำรุงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อการเพาะพันธุ์ การศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้การศึกษาหรือการพักอาศัย หรืออำนวยความปลอดภัย หรือให้ความรู้แก่ประชาชน ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือกรมประมง แล้วแต่กรณี กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้ ทั้งนี้ ตาม ระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ


ที่มา : อนุวัฒน์ นทีวัฒนา,2551. พื้นที่คุ้มครองทางทะเลในประเทศไทย : เป้าหมายปี ค.ศ. 2010/2012 ภายใต้กฎหมายว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ.เอกสารเผยแพร่สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ฉบับที่ 35 กรมทรัพยากรทางทะเลและชาบฝั่ง.239 หน้า



bottom

top

Latest News

Popular


bottom