พิมพ์

 

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982

 

  คำแปลอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982   คลิกที่นี่

  อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 ฉบับภาษาอังกฤษ  คลิกที่นี่

  Current Status of The Conventions UNCLOS 1982

 

ความเป็นมา

 

การประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเลมีการจัดประชุมใหญ่ทั้งสิ้น 4 ครั้ง

 

  1.     การประชุมภายใต้องค์การสันนิบาตชาติ

จัดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 13 มีนาคม-12 เมษายน ค.ศ.1930 ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีผู้แทนจาก 42 ประเทศเข้าร่วมประชุม มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างข้อบังคับและมาตรการในการใช้ทะเล โดยยึดหลักความเป็นธรรมและจารีตประเพณีเป็นหลักใหญ่ แต่การประชุมล้มเหลวเนื่องจากไม่สามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับความกว้างของทะเลอาณาเขต และควรเขตต่อเนื่องจากทะเลอาณาเขตหรือไม่

 

  1.   การประชุมภายใต้องค์การสหประชาชาติ

องค์การสหประชาชาติได้ดำเนินการจัดการประชุมกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเลขึ้นทั้งสิ้น 3 ครั้ง  ดังนี้

       2.1 การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลครั้งที่ 1 (The First United Nations Conference on the Law of the Sea – UNCLOS I)

       จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 27 เมษายน 2501 (ค.ศ. 1958) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีผู้แทนจาก 86 ประเทศเข้าร่วมประชุม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (adopt) อนุสัญญา 4 ฉบับที่รวมเรียกว่า “อนุสัญญากรุงเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1958  ประกอบด้วยอนุสัญญาดังนี้


           -  อนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง
              (Convention on the Territorial Sea and the Contiguous Zone)

           -  อนุสัญญาว่าด้วยทะเลหลวง
              (Convention on the High Seas)

           -  อนุสัญญาว่าด้วยการทำประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีชีวิตในทะเลหลวง
              (Convention on Fishing and Conservation of the Living Resources of the High Seas)

           -  อนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป
              (Convention on the Continental Shelf)

        ประเทศไทยได้ลงนาม (Signature) “อนุสัญญากรุงเจนีวา ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1958”  เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2501 (ค.ศ.1958) และได้ให้สัตยาบัน (Ratification) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม  2511(ค.ศ. 1968) โดยอนุสัญญาฯ มีผลบังคับกับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2511 เป็นต้นไป

 

        2.2 การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลครั้งที่ 2 (The Second United Nations Conference on the Law of the Sea – UNCLOS II)

        จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 มีนาคม – 26 เมษายน พ.ศ.2503 (ค.ศ.1960) มีผู้แทนจาก 88 ประเทศเข้าร่วมประชุม การประชุมครั้งนี้เพื่อพิจารณาปัญหาที่ยังตกลงไม่ได้จากการประชุมในครั้งแรก คือ การกำหนดความกว้างของทะเลอาณาเขตและเขตประมง ซึ่งที่ประชุมไม่สามารถมีข้อยุติในเรื่องดังกล่าว

 

       2.3 การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลครั้งที่ 3 (The Third United Nations Conference on the Law of the Sea – UNCLOS III)

       การประชุม UNCLOS III ได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 9 ปี ระหว่างปี ค.ศ.1973 – 1982 มีผู้แทนจาก 159 ประเทศเข้าร่วมประชุม มีการประชุมทั้งสิ้น 11 สมัยประชุม และในที่สุดที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบและรับรอง "อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982"  (The United Nations Convention on the Law of the Sea 1982 - UNCLOS 1982)

        อนุสัญญาฉบับนี้นอกจากจะรวบรวมเนื้อหาของอนุสัญญากรุงเจนีวา ค.ศ.1958 ทั้งสี่ฉบับไว้ด้วยแล้ว ยังปรับปรุงและเพิ่มหลักกฎหมายใหม่ๆหลายเรื่องได้แก่ ระบบกฎหมายของรัฐหมู่เกาะ เขตเศรษฐกิจจำเพาะ สิทธิของรัฐไร้ฝั่งทะเล เป็นต้น อนุสัญญานี้ได้วางหลักเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประทศเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ และเขตอำนาจของรัฐประเภทต่างๆเกี่ยวกับการใช้ทะเลของของประเทศสมาชิกในน่านน้ำอาณาเขตต่างๆ ทั้งในทะเลหลวง และน่านน้ำอาณาเขตของประเทศสมาชิก ได้แก่

               - น่านน้ำภายใน (Internal Water)

               - ทะเลอาณาเขต (Teritorial Sea)

               - เขตต่อเนื่อง (Contiguous Zone)

               - เขตเศรษฐกิจเฉพาะ (Economic Exclusive Zone)

               - ทะเลหลวง (High Seas)

               - ไหล่ทวีป (Continental Shelf)

         ปัจจุบันอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ถือว่าเป็นหลักกฎหมายที่ใช้ในการกำกับดูแลการใช้ทะเลและทรัพยากรทางทะเลทุกๆด้าน อนุสัญญามีผลบังคับใช้ เมื่อ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 และประเทศไทยได้ลงนามรับรองในอนุสัญญาฯ ดังกล่าวเมื่อ พ.ศ.2525 (ค.ศ.1982)

         ประเทศได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาสหประชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 มีผลบังคับใช้กับประเทศไทยวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ตามข้อกำหนดในอนุสัญญาฉบับดังกล่าว

 

 

   อนุสัญญานี้มีบทบัญญัติครอบคลุมเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายทะเลอย่างกว้างขวาง ทั้งส่วนที่ซ้ำซ้อนกับอนุสัญญากรุงเจนีวา ค.ศ.1958 และส่วนอื่นๆที่บัญญัติขึ้นใหม่รวมทั้งสิ้น 17 ภาค มีข้อบัญญัติ 320 ข้อ มีสาระสำคัญโดยสังเขปดังนี้

 

    ภาค 1 บทนำ (Introduction)

           - การใช้ถ้อยคำและขอบเขต กำหนดนิยามเฉพาะคำศัพท์ เช่น

           - บริเวณพื้นที่ (Area)

           - องค์กร (Authority)

           - กิจกรรมในบริเวณพื้นที่ (Activities in the Area)

           - ภาวะมลพิษของสิ่งแวดล้อมทางทะเล (Pollution of the marine environment)

           - การเททิ้ง (Dumping)

 

     ภาค 2 ทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง (Territorial Sea and Contiguous Zone)

            - รัฐชายฝั่งมีอธิปไตยเหนือทะเลอาณาเขตกว้าง 12 ไมล์ทะเล (1 ไมล์ทะเล = 1.852 กิโลเมต) วัดจากเส้นฐานที่กำหนดตามอนุสัญญานี้

            - เรือต่างชาติ (รวมทั้งเรือรบและเรือพาณิชย์) สามารถใช้ ”สิทธิการผ่านโดยสุจริต” ในทะเลอาณาเขต การผ่านโดยสุจริตตราบเท่าที่ไม่เสื่อมเสียต่อสันติภาพ ความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของรัฐชายฝั่ง

            - ในเขตต่อเนื่อง ถัดจากทะเลอาณาเขตออกมา 12 ไมล์ทะเล รัฐชายฝั่งสามารถควบคุมและลงโทษการฝ่าฝืนกฎหมายที่กระทำภายในอาณาเขตหรือทะเลอาณาเขต เกี่ยวกับการศุลกากร การคลัง การเข้าเมือง และการสุขาภิบาล

 

     ภาค 3 ช่องแคบที่ใช้เพื่อการเดินเรือระหว่างประเทศ (Straits Used for International Navigation)

            - เรือและอากาศยานทุกชาติสามารถใช้สิทธิการเดินทางผ่านช่องแคบที่ใช้เพื่อการเดินเรือระหว่างประเทศ

            - การเดินทางผ่าน หมายถึง เสรีภาพในการเดินเรือและการบินผ่านเพื่อมุ่งประสงค์จะผ่านช่องแคบอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยปราศจากการคุกคามต่อรัฐที่อยู่ติดกับช่องแคบ

            - รัฐที่อยู่ติดกับช่องแคบ อาจออกกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินเรือและอื่นๆ เกี่ยวกับการผ่าน

 

      ภาค 4 รัฐหมู่เกาะ (Archipelagic States)

            - รัฐที่ประกอบด้วยกลุ่มหนึ่งหรือหลายกลุ่มของเกาะที่เกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด และน่านน้ำที่เชื่อมติดต่อระหว่างกันมีอธิปไตยเหนือพื้นที่ทางทะเลที่ถูกปิดล้อมด้วยเส้นฐานตรงที่ลากเชื่อมต่อระหว่างจุดนอกสุดของเกาะ

            - เรือของรัฐอื่นมีสิทธิการผ่านช่องทางทะเลที่กำหนดโดยรัฐหมู่เกาะ (right of passage through sea lanes)

 

       ภาค 5 เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone)

            - รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตย (Sovereign right) เหนือเขต 200 ไมล์ จากชายฝั่งเกี่ยวกับทรัพยากรและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และมีเขตอำนาจ เกี่ยวกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการคุ้มครองรักษาสิ่งแวดล้อม

            - รัฐอื่นมีเสรีภาพในการเดินเรือ บินผ่าน วางสายเคเบิลและท่อใต้ทะเล

            - ให้รัฐชายฝั่งร่วมมือกันในการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ที่ย้ายถิ่นอยู่เสมอและสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม

            - รัฐไร้ฝั่งทะเลและรัฐที่เสียเปรียบทางภูมิศาสตร์ มีสิทธิใช้ทรัพยากรส่วนที่เหลือ (surplus) ของรัฐชายฝั่งในภูมิภาคเดียวกัน

            - การกำหนดเขตทางทะเลระหว่างรัฐที่อยู่ตรงข้ามหรือประชิด ให้ทำความตกลงกันบนมูลฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้บรรลุผลอันเที่ยงธรรม (equitable solution)

 

       ภาค 6 ไหล่ทวีป (Continental Shelf)

            - รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตยเหนือไหล่ทวีป ในการแสวงผลประโยชน์จากทรัพยากรบนไหล่ทวีป (สิทธินี้ไม่กระทบน่านน้ำและอากาศ)

            - เขตไหล่ทวีปขยายได้อย่างน้อย 200 ไมล์จากชายฝั่ง หรืออาจถึง 350 ไมล์ หรือไม่เกิน 100 ไมล์จากเส้นน้ำลึกเท่า 2,500 เมตร ขึ้นอยู่กับธรรมชาติและรูปร่างของขอบทวีป

            - รัฐชายฝั่งต้องชำระเงินให้กับองค์กรพื้นท้องทะเลระหว่างประเทศ (International Sea-Bed Authority) เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่เกิน 200 ไมล์ออกไป

            - คณะกรรมาธิการเขตไหล่ทวีป ทำหน้าที่แนะนำรัฐเกี่ยบกับการกำหนดเขตขอบนอกของไหล่ทวีป

 

       ภาค 7 ทะเลหลวง (High Seas)

            - รัฐทั้งปวงมีเสรีภาพในการเดินเรือ บินผ่าน วิจัย และทำการประมงในทะเลหลวง ซึ่งเป็นบริเวณที่อยูนอกเหนือเขตอำนาจของรัฐใด

            - รัฐมีหน้าที่ร่วมมือกันใช้มาตรการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรมีชีวิตในทะเลหลวง

 

       ภาค 8 ระบอบของเกาะ (Regime of Islands)

            - เกาะมี ทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง เขตเศรษฐกิจจำเพาะ และไหล่ทวีปได้ โดยมีวิธีการกำหนดเขตเช่นเดียวกับอาณาเขตที่เป็นแผ่นดิน

            - โขดหินที่ไม่สามารถเป็นที่อาศัยของมนุษย์ และไม่สามารถยังชีพทางเศรษฐกิจได้ (non-economic viability) ย่อมไม่มีทะเลอาณาเขต หรือเขตเศรษฐกิจจำเพาะหรือไหล่ทวีปของตน

 

       ภาค 9 ทะเลปิดหรือกึ่งปิด (Enclosed or Semi-Enclosed Sea)

            - รัฐที่อยู่กับทะเลปิดหรือกึ่งปิด ควรร่วมมือกันในการจัดการทรัพยากรมีชีวิต ประสานนโยบายการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ประสานงานด้านการคุ้มครองและการักษาสิ่งแวดล้อม

    

       ภาค 10 สิทธิของรัฐไร้ฝั่งทะเลที่จะออกไปสู่และเข้ามาจากทะเล และเสรีภาพในการผ่าน (Right of  Access of Land-Locked State to and from the Sea,anh Freedom of Transit)

            - ประชาชนและสินค้าของรัฐไร้ฝั่งทะเลต้องได้รับสิทธิที่จะออกไปสู่หรือเข้ามาจากทะเลผ่านรัฐเพื่อนบ้านที่มีชายฝั่งทะเลโดยความตกลงระหว่างกัน

 

       ภาค 11 บริเวณพื้นที่ (The Area)

            - บริเวณพื้นที่ หมายถึง พื้นดินท้องทะเล (sea-bed) พื้นมหาสมุทร (ocean floor) และดินใต้ผิวดิน (subsoil) ที่อยู่พ้นขอบเขตของเขตอำนาจรัฐ

            - กิจกรรมทั้งปวงในบริเวณพื้นที่ต้องถูกควบคุมโดยองค์กรพื้นดินท้องทะเลระหว่างประเทศ (International Sea-Bed Authority) ภายใต้หลักการที่ว่า บริเวณพื้นที่และทรัพยากรในบริเวณพื้นที่เป็นมรดกร่วมกันของมนุษยชาติ

            - มีระบบในการสำรวจและแสวงประโยชน์แร่ธาตุพื้นท้องทะเลซึ่งดำเนินการโดยองค์กรและโดยรัฐภาคี (หรือรัฐวิสาหกิจ บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่ถือสัญชาติรัฐภาคี) ดำเนินการร่วมกับองค์กรภายใต้สัญญาร่วม

            - องค์กรฯ มีหน้าที่ กำหนดกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ และวิธีการทำเหมืองแร่พื้นท้องทะเล

            - องค์กรฯ ประกอบด้วย

                       รัฐวิสาหกิจเพื่อการทำเหมืองแร่ (Enterprise for Mining)

                       สมัชชา (Assembly)

                       คณะมนตรี (Council)

                       สำนักเลขาธิการ (Secretariat)

 

       ภาค 12 การคุ้มครองและรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล (Protection and Preservation of the Marine Environment)

            - รัฐทั้งปวงมีพันธกรณีที่จะต้องใช้วิธีการที่พึงปฏิบัติได้ดีที่สุดตามแต่จะเลือก เพื่อป้องกัน ลด และควบคุมภาวะมลพิษทางทะเลจากแหล่งใดๆ

            - รัฐทั้งปวงจะต้องร่วมมือกันในระดับโลกและระดับภูมิภาคในการแจ้งให้รัฐอื่นทราบเกี่ยวกับความเสียหายที่ใกล้จะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นจริง และต้องพัฒนาแผนฉุกเฉิน (contingency plan) เพื่อต่อต้านภาวะมลพิษ

            - รัฐทั้งปวงจะส่งเสริมในด้านความช่วยเหลือทางเทคนิค การติดตามตรวจสอบและการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม

            - กฎเกณฑ์ระหว่างประเทศและกฎหมายของชาติ จะต้องนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกัน ลด และควบคุมภาวะมลพิษของสิ่งแวดล้มทางทะเล อันเกิดจากแหล่งทางบกและกิจกรรมของมหาสมุทรและพื้นดินท้องทะเล รวมถึงการทิ้งเท (dumping)

            - การบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายเป็นความรับผิดชอบของรัฐชายฝั่ง รัฐเจ้าของท่า และรัฐเจ้าของธง ขึ้นอยู่กับธรรมชาติ แหล่ง และบริเวณที่เกิดการกระทำผิด

            - มาตรการป้องกัน (Safeguards) สามารถใช้ได้ในกรณีที่วิธีการในการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายไม่เหมาะสม

            - บริเวณที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง (ice-covered areas) อาจได้รับความคุ้มครองโดยเกณฑ์พิเศษเพื่อต่อต้านภาวะมลพิษจากเรือ

            - รัฐทั้งปวงจะต้องรับผิด สำหรับความเสียหายอันเกิดจาการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศในการต่อสู้ภาวะมลพิษทางทะเล

            - พันธกรณีภายใต้อนุสัญญาอื่นๆ ว่าด้วยการคุ้มครองและรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลจะต้องไม่ถูกทำให้เสียโดยอนุสัญญานี้

            - เรือรบได้รับการคุ้มกันอธิปไตย (sovereign immunity) จากข้อบังคับเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่บังคับใช้โดยรัฐอื่น แต่รัฐที่เป็นเจ้าของจะต้องประกันว่า เรือรบของตนกระทำการในลักษณะที่สอดคล้องกับอนุสัญญาเท่าที่จะพึงปฏิบัติได้

 

       ภาค 13 การวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล (Marine Scientific Research)

            - รัฐทั้งปวงมีสิทธิในการทำวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลเฉพาะเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในทางสันติ

            - การวิจัยในเขตเศรษฐกิจจำเพาะและบนไหล่ทวีปต้องได้รับความยินยอมของรัฐชายฝั่ง

            - สิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ต้องไม่รบกวนเส้นทางเดินเรือและต้องติดเครื่องหมาย และสัญญาณเตือนภัย

            - รัฐและองค์การระหว่างประเทศต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัย

            - รัฐที่ทำการวิจัยอาจร้อยขอให้คณะกรรมการไกล่เกลี่ย (concillation commission) ระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับโครงการวิจัย

 

       ภาค 14 การพัฒนาและการถ่อยทอดเทคโนโลยี (Development and Transfer of Marine Technology)

            - รัฐทั้งปวงมีหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเลตามข้อกำหนดที่เป็นธรรมและตามสมควร โดยคำนึงถึงผลประโยชน์อันชอบธรรมทั้งผู้เป็นเจ้าของ ผู้ให้ และผู้รับเทคโนโลยี

            - ส่งเสริมการจัดตั้งและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติและภูมิภาค

 

       ภาค 15 การระงับข้อพิพาท (Settlement of Disputes)

            - รัฐภาคีมีพันธกรณีที่จะต้องระงับข้อพิพาทโดยสันติ

            - กรณีไม่อาจระงับระดับทวิภาคี ต้องเสนอข้อพิพาทสู่วิธีการเชิงบังคับ โดยอาจเลือกวิธีพิจารณาข้อใดข้อหนึ่งจาก

                   1. ศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ (International Tribunal for the Law of the Seas)

                   2. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice)

                   3. ศาลอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) ตั้งขึ้นตามภาคผนวก 7

                   4. ศาลอนุญาโตตุลาการพิเศษ (Special arbitrations)

                          - การประมง (fisheries)

                          - การป้องกันและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล (protection and preservation of marine environment)

                          - การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทางทะเล (marine scientific research)

                          - การเดินเรือ รวมถึงมลพิษจากเรือและการเททิ้ง navigation (including pollution from vessels, and dumping)

            - ข้อพิพาทบางประเภทเสนอให้พิจารณาโดยไกล่เกลี่ย อันไม่มีผลผูกพันคู่กรณี

            - รัฐมีข้อยกเว้นไม่ยอมรับการพิจารณาเชิงบังคับเรื่องที่เปราะบาง เช่น การกำหนดเขตแดนทางทะเลและกิจกรรมทาง ทหาร (โดยต้องตั้งข้อสงวนต่อเชขาธิการสหประชาชาติ)

 

       ภาค 16 บทบัญญัติทั่วไป (General Provisions)

            - รัฐทั้งปวงต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่อยู่ในอนุสัญญานี้ด้วยความสุจริตและจะไม่ใช้สิทธิในทางที่ผิด และงดเว้นการ คุกคามโดยใช้กำลังอันขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

            - รัฐไม่มีพันธกรณีต้องเปิดเผยข้อสนเทศที่ขัดผลประโยชน์ด้านความมั่นคง

            - รัฐชายฝั่งมีเขตอำนาจเหนือวัตถุโบราณคดีและทางประวัติศาสตร์ที่พบในทะเลภายในเขตต่อเนื่อง (24 ไมล์ทะเลจากฝั่ง)

 

        ภาค 17 บทบัญญัติสุดท้าย (Final Provisions)

            - บทบัญญัติที่ไม่เกี่ยวกับพื้นดินท้องทะเลสามารถแก้ไขเพิ่มเติม และมีผลบังคับใช้ภายหลังจาก 1 ปี นับจากวันที่ 2/3 รัฐภาคีให้สัตยาบัน

            - การแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับพื้นดินท้องทะเล ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรีและสมัชชา โดยจะมีการพิจารณาทบทวนทุก 15 ปี

            - อนุสัญญามีผลบังคับใช้ 1 ปี นับจากวันที่รัฐภาคีที่ 60 ให้สัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสาร

 

 

ที่มา : ที่มา : ศรัณย์ เพ็ชร์พิรุณ. 2549. สมุทรกรณี .พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพฯ.