พิมพ์


อนุสัญญาว่าด้วยทะเลหลวง

(Convention on the High Seas)


ฉบับองค์การสหประชาชาติ คลิกที่นี่


    อนุสัญญาฯ นี้ มีคำจำกัดความที่เข้าใจง่าย และได้กำหนดสิทธิเสรีภาพในทะเลหลวง ไว้ดังนี้


     “ทะเลหลวง หมายถึง ส่วนทั้งหมดของทะเลซึ่งไม่รวมอยู่ในทะเลอาณาเขตหรือในน่านน้ำภายในของรัฐ (ข้อ 1)”


     “ทะเลหลวงเปิดให้แก่ชาติทั้งปวง ไม่มีรัฐใดอ้างสิทธิที่จะทำให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของทะเลหลวงตกอยู่ในอธิปไตยของตนได้ (ข้อ 2)”


     “... เสรีภาพแห่งทะเลหลวง ทั้งสำหรับรัฐชายฝั่งและรัฐที่มิใช่รัฐชายฝั่ง ประกอบด้วย

             1.เสรีภาพในการเดินเรือ (freedom of navigation)

             2.เสรีภาพในการประมง (freedom of fishing)

             3.เสรีภาพที่จะวางสายและท่อใต้ทะเล (freedom to lay submarine cables and  pipelines)

             4.เสรีภาพที่จะบินเหนือทะเลหลวง (freedom of overflight) (ข้อ 2)”



     และอนุสัญญานี้มีข้อกำหนดสิ่งที่จะกระทำในทะเลหลวง ด้านการเดินเรือในทะเลหลวง การโดนกันของเรือ การป้องกันการขนส่งทาส การปรามปรามโจรสลัด และการป้องกันมลพิษทางทะเล ดังนี้

ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเดินเรือในทะเลหลวง

     

     “รัฐทุกรัฐไม่ว่าจะเป็นรัฐชายฝั่งหรือไม่ก็ตาม มีสิทธิที่จะเดินเรือโดยชักธงของตนในทะเลหลวง (ข้อ 4)”


     “เรือจะใช้เดินภายใต้ธงของรัฐเพียงรัฐเดียวเท่านั้น และจะอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐนั้นโดยจำเพาะเมื่ออยู่ในทะเลหลวง... เรือมิอาจเปลี่ยนธงระหว่างการเดินทางหรือในขณะที่แวะเมืองท่า เว้นแต่ในกรณีการโอนกรรมสิทธิ์หรือการเปลี่ยนที่จดทะเบียนอย่างแท้จริง (ข้อ 6 วรรค 1)”

 

     “เรือรบในทะเลหลวงมีความคุ้มกันโดยสมบูรณ์จากอำนาจของรัฐใดๆ นอกเหนือไปจากรัฐเจ้าของธง (ข้อ 8 วรรค 1)”


     “เรือซึ่งเป็นของหรือดำเนินการโดยรัฐและใช้ในงานรัฐบาลอันมิใช่การพาณิชย์ เมื่ออยู่ในทะเลหลวงจะมีความคุ้มกันโดยสมบูรณ์จากรัฐอื่นใดนอกเหนือไปจากรัฐเจ้าของธง (ข้อ 9)”



การโดนกันของเรือในทะเลหลวง


     “ในกรณีที่มีการโดนกันหรือมีอุบัติเหตุอื่นใดของการเดินเรือในทะเลหลวง ซึ่งพัวพันถึงความรับผิดชอบทางอาญาหรือทางวินัยของนายเรือหรือของบุคคลอื่นใดในประจำการของเรือ การดำเนินคดีทางอาญาหรือทางวินัยต่อบุคคลเช่นนั้นมิอาจกระทำได้ เว้นแต่จะถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการหรือฝ่ายปกครองของรัฐเจ้าของธงหรือรัฐซึ่งบุคคลเช่นว่านั้นเป็นคนชาติ (ข้อ 11 วรรค 1)”


     “การจับกุมหรือกักกันเรือ แม้ในฐานเป็นมาตรการสอบสวน จะสั่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ใดนอกเหนือไปจากเจ้าหน้าที่ของรัฐเจ้าของธงมิได้ (ข้อ 11 วรรค 3)”



การป้องกันการขนส่งทาสและการปราบปรามโจรสลัด


     “รัฐทุกรัฐจะกำหนดมาตรการอันมีประสิทธิภาพขึ้น เพื่อป้องกันและลงโทษการขนส่งทาสในเรือซึ่งได้รับอนุญาตให้ชักธงของตน และเพื่อป้องกันการใช้ธงของตนโดยมิชอบโดยกฎหมายเพื่อความมุ่งประสงค์นั้น ทาสผู้ใดที่ลี้ภัยบนเรือไม่ว่าจะชักธงใดก็ตามจะได้เป็นอิสระโดยนัยนั้น (ข้อ 13)”


     “รัฐทุกรัฐจะร่วมมือกันอย่างมากที่สุดที่สามารถจะทำได้ในการปราบปรามโจรสลัดในทะเลหลวง หรือในที่อื่นใดภายนอกอำนาจของรัฐใดรัฐหนึ่ง (ข้อ 14)”


     “การโจรสลัดประกอบด้วยการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

          (1) การกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายโดยการใช้กำลัง การกักขัง หรือการกระทำใดอันเป็นการปล้นสดมภ์ ซึ่งกระทำเพื่อวัตถุประสงค์ในทางส่วนตัวโดยลูกเรือหรือผู้โดยสารของเรือนั้นหรืออากาศยานชน และมุ่งกระทำ..

               (ก) ในทะเลหลวง ต่อเรือหรืออากาศยานลำอื่น หรือต่อบุคคลหรือต่อทรัพย์สินบนเรือหรืออากาศยานเช่นว่านั้น

               (ข) ต่อเรือ อากาศยาน บุคคลหรือทรัพย์สินในที่ที่อยู่ภายนอกอำนาจของรัฐหนึ่งรัฐใด

          (2) การกระทำใดอันเป็นไปโดยการเข้าร่วมโดยสมัครใจในการดำเนินการของเรือหรืออากาศยาน โดยทราบถึงข้อเท็จจริงที่ทำให้เรือหรืออากาศยานนั้นเป็นโจรสลัด

          (3) การกระทำใดอันเป็นการยุยงหรืออำนวยความสะดวกโดยเจตนาต่อการกระทำที่ได้กล่าวไว้ในอนุวรรค 1 หรืออนุวรรค 2 ของข้อนี้ (ข้อ 15)”



การไล่ติดตาม


     “การไล่ติดตามเรือของต่างชาติอาจกระทำได้เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐชายฝั่งมีเหตุผลอันสมควรที่จะเชื่อได้ว่าเรือนั้นได้ละเมิดกฎหมายและข้อบังคับของรัฐนั้น การไล่ติดตามเช่นว่าต้องเริ่มต้นเมื่อเรือต่างชาติหรือเรือเล็กของเรือต่างชาติอยู่ภายในน่าน้ำภายใน หรือทะเลอาณาเขต หรือเขตต่อเนื่องของรัฐที่ติดตาม และอาจกระทำต่อไปถึงภายนอกทะเลอาณาเขตหรือเขตต่อเนื่องได้ถ้าหากการไล่ติดตามนั้นมิได้ขาดระยะลง ไม่เป็นจำเป็นว่าในขณะที่เรือต่างชาติอยู่ภายในทะเลอาณาเขตหรือเขตต่อเนื่องได้รับคำสั่งให้หยุด เรือที่ออกคำสั่งนั้นควรอยู่ภายในทะเลอาณาเขตหรือเขตต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ถ้าเรือต่างชาติอยู่ภายในเขตต่อเนื่องดังนิยามในข้อ 24 ของอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง การไล่ติดตามอาจจะกระทำได้ต่อเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิซึ่งเขตนั้นได้ถูกจัดตั้งขึ้นสำหรับคุ้มครองเท่านั้น (ข้อ 23 วรรค 1)”


     “สิทธิในการไล่ติดตามสิ้นสุดลงในทันที่เรือซึ่งถูกติดตามเข้าสู่ทะเลอาณาเขตของประเทศตนหรือประเทศที่สาม (ข้อ 23 วรรค 2)”


     “สิทธิในการไล่ติดตามอาจใช้ได้เฉพาะเรือรบ หรืออากาศยานทหาร หรือ เรือหรืออากาศยานอื่นในราชการของรัฐซึ่งได้รับมอบอำนาจเป็นพิเศษเพื่อการนั้น (ข้อ 23 วรรค 4)”



การป้องกันมลพิษ


     “รัฐทุกรัฐจะวางข้อบังคับเพื่อป้องกันการเกิดมลภาวะทางทะเล โดยการถ่ายเทน้ำมันจากเรือหรือท่อ หรือจากการแสวงประโยชน์และการสำรวจพื้นดินท้องทะเล ทั้งนี้โดยคำนึงถึงบทแห่งสนธิสัญญาที่ใช้ในเรื่องนี้ประกอบด้วย (ข้อ 24)”

  

     “รัฐทุกรัฐจะใช้มาตรการเพื่อป้องกันการเกิดมลภาวะทางทะเลจากการทิ้งขยะกัมมันตภาพรังสี โดยคำนึงถึงมาตรฐานและกฎข้อบังคับใดซึ่งอาจกำหนดขึ้นโดยองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง (ข้อ 25 วรรค 1)”


     “รัฐทั้งปวงจะร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในมาตรการสำหรับป้องกันการทำให้เกิดมลภาวะทางทะเลและห้วงอวกาศเบื้องบน อันเป็นผลมาจากกิจกรรมซึ่งใช้วัสดุกัมมันตรังสีหรือสิ่งที่เป็นอันตรายอย่างอื่น (ข้อ 25 วรรค 2)”




ที่มา : ศรัณย์ เพ็ชรพิรุณ. 2549. สมุทรกรณี. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพฯ.