.

สื่อออนไลน์

Search this site

ลงทะเบียน

MKH Update

สถิติการเข้าชม


 

อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ

 

        อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญและมีส่วนเชื่อมโยงกับธุรกิจการขนส่งทางน้ำและกิจการพาณิชยนาวี ตลอดจนเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่นอีกมากมาย เช่น อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า อุตสาหกรรมเครื่องมือสื่อสาร อุปกรณ์เดินเรือ อุตสาหกรรมสีและเคมีภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เครื่องยนต์เรือ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมไม้และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

         กรมเจ้าท่า ได้แบ่งประเภทเรือไทยตามลักษณะการใช้งานเป็น 23 ประเภท ได้แก่  เรือประมง เรือบรรทุกสินค้าตู้ เรือบรรทุกสินค้าทั่วไป บรรทุกน้ำมัน บรรทุกแก๊ส เรือขุด/ดูดแร่ เรือดูดทราย เรือโดยสาร เรือลากจูง เรือสำราญและกีฬา เรือยอร์ช เรือตรวจการณ์/นำร่อง เรือขุด/รักษาร่องน้ำ เรือสำรวจ เรือดับเพลิง เรือบรรทุกสินค้าห้องเย็น เรือบรรทุกแก๊ส-น้ำมัน เรือดัน-จูง เรือโดยสาร-สินค้า เรือลำเลียงแม่น้ำ เรือลำเลียงทะเล เรือโดยสาร-ประจำทาง เรือตอกเสาเข็ม/ปั้นจั่น และเรืออื่นๆ ดังตารางที่ 1  

 

ความสำคัญของอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ

        ประเทศไทยพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก โดยร้อยละ 90 ของปริมาณการค้าระหว่างประเทศอาศัยการขนส่งทางน้ำ  เนื่องจากสามารถบรรทุกสินค้าได้ในปริมาณมาก และมีต้นทุนการขนส่งที่ราคาถูกกว่าการขนส่งด้านอื่น ๆ ดังนั้น อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือจึงเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยสนับสนุนกิจการเดินเรือขนส่งและกิจการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกยอมรับว่าอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือนั้น เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการป้องกันประเทศ (Defense Related Industry) เพราะจะให้การสนับสนุนประเทศด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจในยามสงคราม

        อุตสาหกรรมที่สนับสนุนและเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือไทย ประกอบด้วยอุตสาหกรรมที่่เกี่ยวเนื่องทั้งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งมีความสำคัญต่อต้นทุนและคุณภาพในการผลิต การสนับสนุนการส่งเสริมและทิศทางของตลาดอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ

อุตสาหกรรมต้นน้ำ

        อุตสาหกรรมต้นน้ำเป็นอุตสาหกรรมที่ป้อนวัตถุดิบมี่ใช้ในการต่อเรือและซ่อมเรือ เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก สี/เคมีภัณฑ์ การหล่อโลหะ  เครื่องจักร  อุปกรณ์เดินเรือ  และเครื่องมือสื่อสาร อุตสาหกรรมต้นน้ำเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดต้นทุนและคุณภาพของการต่อเรือและซ่อมเรือ อู่ต่อเรือและซ่อมเรือของไทยมีขนาดเล็ก ทำให้ผู้ผลิตภายในประเทศไม่สามารถผลิตให้เนื่องจากไม่คุ้มทนจึงจำเป็นต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ ยกเว้นอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคที่ค่อนข้างจะเป็นอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งและช่างไทยมีฝีมือด้านทำเฟอร์นิเจอร์อยู่บ้าง

อุตสาหกรรมกลางน้ำ

        อุตสาหกรรมกลางน้ำมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนในด้านเงินทุนและทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ สถาบันการเงิน และสถาบันการศึกษา ปัจจุบัน สถาบันการเงินให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือน้อยมาก เพราะขาดความเข้าใจในอุตสาหกรรมและมักมองว่าเป็นกิจการที่ความเสี่ยงสูงและคืนทุนยาก  อีกทั้งยังขาดบุคคลกรที่มีความชำนาญในทุกๆระดับของอุตสาหกรรม จากการขาดผู้สอนและผู้สนใจในอุตสาหกรรม จากทัศนคติการต่อเรือและซ่อมเรือเป็นงานที่หนักและได้รับค่าตอบแทนไม่คุ้มค่า

อุตสาหกรรมปลายน้ำ

        อุตสาหกรรมปลายน้ำเป็นอุตสาหกรรมซึ่งมีส่วนในการกำหนดทิศทางตลาด ได้แก่ การขนส่งทางทะเล การประมง การท่องเที่ยวทางน้ำ และการต่อเรือของหน่วยงานราชการ อุตสาหกรรมดังกล่าวถือเป็นผู้ใช้เรือและลูกค้าของอู่ต่อเรือ การเปลี่ยนแปลงในกลุ่มอุตสาหกรรมข้างต้นย่อมมีผลกระทบกับอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือด้วยเช่นกัน

 

ลักษณะงานในอุตสาหกรรมต่อเรือ

        งานในอุตสาหกรรมต่อเรือ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ งานต่อเรือใหม่และงานซ่อมเรือเก่า

       1. งานต่อเรือใหม่ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ได้แก่ การออกแบบและการคำนวณ การทดลองเรือจำลองในถังน้ำ การทดสอบจากโมเดลของเรือที่ได้จากสถาบันออกแบบที่เชื่อถือได้ การออกแบบโครงสร้างของเรือ การออกแบบส่วนประกอบของเรือ เพลาใบจักรเครื่องจักรและกลจักรเรือต่าง ๆ การออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนระบบสื่อสาร ดาวเทียม และอื่น ๆ ตามความต้องการและวัตถุประสงค์การใช้งาน เมื่อทำการออกแบบและคำนวณพร้อมทั้งทดลองลากเรือในถังน้ำทดสอบจนได้ผลเป็นที่พอใจแล้ว จึงนำแบบดังกล่าวมาทำการออกแบบเพื่อการผลิตหรือต่อเรือต่อไป อู่เรือที่ไม่มีขีดความสามารถในการออกแบบและคำนวณ สามารถซื้อแบบจากบริษัทผู้ออกแบบอื่นหรืออู่เรืออื่นมาขยายหรือปรับปรุงแบบให้ตรงตามความต้องการของตน และต้องเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยทางทะเล(International Convention for Safety of Life at Sea, SOLAS)

        2.งานซ่อมเรือ ส่วนใหญ่จะเป็นงานซ่อมเครื่องจักร กลจักรเรือ ตัวเรือ และระบบต่าง ๆ ภายในเรือ งานซ่อมเรือมักจะติดต่อประสานงานกันล่วงหน้า (ยกเว้นกรณีซ่อมฉุกเฉิน) เพื่อกำหนดวันและเวลาที่นำเรือมาซ่อม รวมทั้งการกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จ เพื่อให้อู่เรือสามารถสั่งวัสดุและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นในการซ่อมเรือมาเตรียมพร้อมไว้ โดยปกติจะซ่อมบำรุงเรือหลังจากการตรวจสภาพเรือ ซึ่งทำเป็นประจำทุกๆ 2 – 3 ปี ตามหลักสากลหรือเมื่อทราบว่าเรือได้รับความเสียหาย หรือใช้งานต่อไปอาจจะไม่ปลอดภัย

 

ที่ตั้งและส่วนประกอบที่สำคัญของอู่เรือ

        โดยทั่วไปอู่เรือมักจะตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำหรือบริเวณชายฝั่งทะเล และมีช่องทางเข้าถึงได้โดยทางเรือและทางบก เพื่อให้สะดวกต่อการขนส่งพัสดุ อุปกรณ์เครื่องมือ ในการต่อและซ่อมเรือ มีท่าเทียบเรือที่มีน้ำลึกพอสำหรับขนาดของเรือที่ต้องการต่อหรือเข้ารับการซ่อม เพื่อให้สามารถเทียบเรือได้โดยสะดวก มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการนำเรือลงน้ำหรือขึ้นมาบนบก มีพื้นที่ปฏิบัติงานสำหรับต่อเรือหรือซ่อมเรือ และสำนักงานตามขนาดของกิจการ

        สิ่งอำนวยความสะดวกในการต่อเรือที่จำเป็นได้แก่

    1. ท่าเทียบเรือพร้อมปั้นจั่นหรือเครน
    2. อู่แห้ง หรือคานเรือ หรืออู่ลอย หรือระบบชานยกเรือขึ้นลงจากน้ำพร้อมชานเลื่อนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมากกว่า
    3. โรงงานเครื่องกลเพื่อการซ่อม การประกอบ การทดลอง และการติดตั้งเครื่องจักรกลต่าง ๆ
    4. โรงงานเพื่องานแผ่นเหล็กตัวเรือ
    5. โรงงานท่อและอุปกรณ์ประกอบอื่น ๆ ของเครื่องจักรกล
    6. โรงงานอุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟฟ้า
    7. โรงงานอิเล็กทรอนิกส์
    8. โรงงานเบ็ดเตล็ดสำหรับรับงานปลีกย่อยอื่น ๆ เช่น การขยายแบบด้วยมือ การทาสีการบุผ้า การทำเฟอร์นิเจอร์
    9. สำนักงานสำหรับฝ่ายออกแบบ เขียนแบบและควบคุมงาน
    10. สำนักงานสำหรับฝ่ายบริหารและงานธุรการอื่น ๆ เช่นเดียวกับโรงงานทั่ว ๆ ไป
    11. คลังเก็บพัสดุเพื่อการต่อเรือและการซ่อมเรือ
    12. สิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เช่น รถยก รถขน ถนนภายในอู่

 

อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือของไทยในปัจจุบัน

         ในปี 2549 มีจำนวนผู้ประกอบกิจการอู่ต่อเรือ ซ่อมเรือ และกิจการที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทยทั้งสิ้น 306 ราย กระจายอยู่ตามลำน้ำที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง ตามแนวชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน และช่องแคบมะละกา โดยสามารถแบ่งขีดความสามารถในการต่อเรือของอู่ต่อเรือไทยได้เป็น 3 กลุ่ม คือ อู่เรือขนาดเล็ก อู่เรือขนาดกลาง และอู่เรือขนาดใหญ่

          1. อู่เรือขนาดเล็ก มีขีดความสามารถในการต่อเรือและซ่อมเรือขนาดเล็กกว่า 500 ตันกรอส อู่เรือกลุ่มนี้ให้บริการต่อและซ่อมเรือไม้ เช่น เรือประมง

          2. อู่เรือขนาดกลาง มีขีดความสามารถในการต่อเรือและซ่อมเรือ   ขนาดตั้งแต่ 500 – 4,000 ตันกรอส เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการต่อและซ่อมเรือเหล็ก  เรืออลูมิเนียม และเรือไฟเบอร์กลาส ส่วนมากจะตั้งอยู่ใน เขตกรุงเทพและปริมณฑล

          3. อู่เรือขนาดใหญ่ มีขีดความสามารถในการต่อเรือและซ่อมเรือตั้งแต่ 4,000 ตันกรอส ขึ้นไป กลุ่มนี้มีที่ตั้งอยู่ทั้งในเขตกรุงเทพฯ สมุทรปราการ และชลบุรี เป็นกลุ่มที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและสามารถประกอบกิจการด้านอื่นที่ไม่ใช่ต่อเรือและซ่อมเรือเพียงอย่างเดียว เนื่องจากมีเครื่องจักรและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่พร้อมอยู่แล้ว เช่น งานด้านโครงสร้างเหล็ก สะพาน แท่นขุดเจาะและอื่น ๆ

 

         เรือที่ต่อโดยอู่เรือไทย สามารถแบ่งลักษณะออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

1. เรือเฉพาะกิจ เช่น เรือดันและเรือลากจูง เรือขุด เรือตรวจการณ์ เรือสำรวจ เรือวางทุ่น

    และเรือบริการแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเล

2. เรือขนาดเล็กที่ใช้ขนส่งทางน้ำภายในประเทศและการขนส่งชายฝั่ง เช่น เรือไลเตอร์ เรือลำเลียง

    และเรือบรรทุกสินค้าเทกอง

3. เรือโดยสารขนาดเล็กและเรือสำราญ

4. เรือประมง ส่วนใหญ่เป็นเรือประมงชายฝั่ง

 

มูลค่าของอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ

          ผู้ประกอบการอู่ต่อเรือและอู่ซ่อมบำรุงเรือได้มีการจดทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมภายใต้ข้อกำหนดของตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งใน พ.ศ. 2560 ได้มีผู้ประกอบการอู่ต่อเรือและอู่ซ่อมบำรุงเรือจำนวน 232 อู่ ซึ่ง 189 อู่ ได้จดทะเบียนนิติบุคคลภายใต้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จากการสอบทานบัญชีของผู้ประกอบการภายใต้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าตั้งแต่ พ.ศ. 2557 – 2559 มีผู้ประกอบให้ข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีรายได้รวมของธุรกิจจำนวน 89, 92 และ 81 ราย ตามลำดับ ซึ่งรายได้รวมใน พ.ศ. 2559 ลดลงเหลือประมาณ 12,197 ล้านบาท จาก 16,870 ล้านบาทใน พ.ศ. 2557 (รูปที่ 1) ทั้งนี้การลดลงของรายได้รวมนั้นอาจเกิดจากการจำนวนการให้ข้อมูลของผู้ประกอบที่ลดลงใน พ.ศ. 2559 หรืออาจเป็นเพราะธุรกิจดังกล่าวยังไม่ได้รับการสนับสนุนและมีช่องทางในการลงทุนอย่างชัดเจน

 

รูปที่ 1 รายได้รวมของธุรกิจอู่ต่อเรือและอู่ซ่อมบำรุงเรือที่ผู้ประการให้ข้อมูล พ.ศ. 2557 - 2559

(ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, 2560)

สถิติอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ ปี 2546-2549

 

แนวโน้มของอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือของไทย

         อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามความต้องการใช้เรือในการขนส่งทางน้ำ การประมง และการท่องเที่ยวทางน้ำ ในปัจจุบันอู่เรือไทยมีขีดความสามารถในการซ่อมเรือได้ถึงขนาด 140,000 ตันกรอส (อู่เรือยูนิไทย) และได้เปรียบในเรื่องราคาซ่อมและคุณภาพ แต่ควรปรับปรุงเรื่องเวลา เพราะอู่เรือต่างประเทศทำได้ดีกว่า ตลาดต่อเรือสินค้าหรือเรือพาณิชย์ ถือเป็นตลาดต่อเรือที่มีศักยภาพสูง เพราะเป็นกองเรือที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับการค้าทางทะเลโดยตรง

         ตลาดเรือพาณิชย์ จากการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าทางทะเลของภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ส่งผลให้กองเรือพาณิชย์เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลาดเรือสินค้าที่มีศักยภาพของอู่เรือไทย คือ เรือสินค้าที่มีขนาดไม่เกิน 20,000 เดดเวทตัน เพราะเป็นเรือที่มีขนาดใกล้เคียงกับขีดความสามารถของอู่ต่อเรือไทย และเหมาะสมกับทำเลและการรองรับการต่อเรือของประเทศไทย

         ตลาดเรือประมง กองเรือประมงไทยโดยรวมมีอัตราขยายตัวต่ำมาก เนื่องจากการลดลงของทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยและมหาสมุทรอินเดีย ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นกระทบต้นทุนการประมง การออกมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรือประมงและการทำประมงเพื่ออนุรักษ์สัตว์น้ำของกรมประมง ทำให้เรือประมงไทยซึ่งทำประมงชายฝั่งต้องงดทำการประมงไป แต่การซ่อมเรือประมงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะดัดแปลงเรือประมงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจับสัตว์น้ำ หรือดัดแปลงเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่นรองรับการท่องเที่ยวทางน้ำ ส่วนเรือประมงต่างชาติมักจะไม่มาซ่อมเรือในประเทศไทย

         เรือเฉพาะทาง ตลาดต่อเรือเฉพาะทางของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของเรือประเภทนี้ในตลาดโลก โดยขนาดเรือเฉพาะทางในตลาดโลกที่ต้องการมากที่สุดคือ ขนาดต่ำกว่า 1,000 ตันกรอส (ยกเว้นเรือ Ferries) ซึ่งอู่ต่อเรือเฉพาะทางของไทยสามารถต่อเรือได้ในขนาดใกล้เคียงกัน ถือเป็นโอกาสดีที่อู่เรือไทยจะได้พัฒนาฝีมือในตลาดโลก

 

         อุตสาหกรรมต่อเรือ นอกจากจะเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงและคืนกำไรยากแล้ว ยังมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมากหลายระดับ รวมทั้งต้องอาศัยเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมชั้นสูงจากหลายสาขา จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องให้การส่งเสริมอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และครบวงจร ดังเช่นที่นานาประเทศที่อุตสาหกรรมต่อเรือเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็วและมั่นคงได้ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเรือของตนเอง

 

 

 

 


    ตันกรอส (Gross Tonnage : gt)  

คือ จำนวนตันรวมของเรือหรือเรือลำเลียง คำนวณตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการวัดขนาดของเรือ ค.ศ. 1969

 

    เดดเวทตัน (Deadweight Tonnage : dwt)

คือ น้ำหนักที่เรือสามารถใช้ในการบรรทุกทุกสิ่งรวมทั้งน้ำหนักสินค้า น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำจืด เป็นต้น ที่เรือจะรับได้โดยปลอดภัย มีหน่วยเป็นเมตริกตัน

 

 


ที่มา : 

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และ สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2550. รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการผลักดันอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือแบบครบวงจร. สืบค้นจาก http://www.oie.go.th/other.asp (5 ก.ค.54)

สมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทย. สืบค้นที่ http://www.tsba.or.th/page8.html (5 ก.ค.54)

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า. คลังข้อมูลธุรกิจ. [ออนไลน์]. 2560. เข้าถึงได้จาก http://www.dbd.go.th/main.php?filename=index 

 



bottom

top

Latest News

Popular


bottom