พิมพ์

 

 

แนวปะการังในประเทศไทย

 

สถานภาพปะการังทั่วประเทศไทย ปี 2558

แนวปะการังอ่าวไทย

แนวปะการังทะเลอันดามัน

ปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว

การฟื้นฟูแนวปะการัง

ปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูแนวปะการัง

 

       แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่มีความซับซ้อน และเป็นบริเวณที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในทะเล ทรัพยากรสัตว์น้ำนานาชนิดจากแนวปะการังถูกนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อม ความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังดึงดูดให้มีการใช้ประโยชน์จากแนวปะการังมากขึ้น ทั้งในด้านการประมง และการท่องเที่ยว ซึ่งมีความสำคัญมากทางเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลเพื่ออุตสาหกรรมและเกษตรกรรมก็ส่งผลกระทบต่อระบบ นิเวศแนวปะการังด้วย แนวปะการังในประเทศไทยมีแนวโน้มจะมีความเสื่อมโทรมมากขึ้นทั้งสาเหตุที่เกิด จากปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น พายุ คลื่นสึนามิ การฟอกขาวของปะการัง (coral bleaching) การโผล่พ้นน้ำในช่วงเวลาที่น้ำลงต่ำมาก การไหลของน้ำจืดลงสู่ทะเล การแย่งพื้นที่โดยสาหร่ายและพรมทะเล และจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การระเบิดปลา การทิ้งสมอเรือในแนวปะการัง การดำน้ำ เรือชนหรือเกยตื้น การเหยียบย่ำและการเก็บสิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง เครื่องมือประมง การขุดร่องน้ำ  ขยะ น้ำมัน สารอาหาร ฯลฯ  จึงต้องมีการประเมินสถานภาพแนวปะการัง เพื่อกำหนดวิธีการที่เหมาะสมต่อการบริหารจัดการด้านการใช้ประโยชน์ อนุรักษ์ และฟื้นฟูต่อไป

 

http://www.wowsumitra.com/tour_details.php?id=82

       

       แนวปะการังมีการเปลี่ยนแปลงสภาพตลอดเวลา ซึ่งอาจเปลี่ยนเป็นในทางที่ดีขึ้นหรือเลวลง การเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติ เช่น พายุพัดทำลาย การอุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มขึ้นสูงกว่าปกติ การะบาดของดาวมงกุฎหนาม หรือจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การประมงผิดวิธีในแนวปะการัง การท่องเที่ยว การลักลอบจับปลาในแนวปะการังหรือลักลอบเก็บปะการัง กิจกรรมจากบนฝั่ง การฟื้นตัวของแนวปะการังสู่สภาพเดิมส่วนใหญ่ใช้เวลานาน ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมหรือยับยั้ง รวมทั้งระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วย

     กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรายงานว่า ในปี 2549 ฝั่งอ่าวไทยมีพื้นที่แนวปะการังประมาณ 45,500 ไร่ (72.8 ตร.กม.) และฝั่งทะเลอันดามันประมาณ 50,800 ไร่ (81.28 ตร.กม.) รวมพื้นที่แนวปะการังทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันมีพื้นที่รวมประมาณ 96,300 ไร่ (154.08 ตร.กม.) พบปะการัง 18 วงศ์ 71 สกุล 388 ชนิดในพื้นที่ดังกล่าว สถานการณ์ปะการัง พ.ศ. 2549 - 2553

       แนวปะการังของประเทศไทย ในปี 2558 มีการแพร่กระจายบริเวณชายฝั่งและเกาะแก่งต่างๆ ในอ่าวไทย คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 75,590 ไร่ (120.9 ตร.กม.) และทะเลอันดามัน คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 73,365 ไร่ (117.4 ตร.กม.) รวมทั้งสองฝั่งเป็นพื้นที่ประมาณ 148,955 ไร่ (238.3 ตร.กม.) และได้ทำการสำรวจสภาพปะการัง ในพื้นที่ทั้งหมด 47,736 ไร่ (ตารางที่ 1 และ 2)  

      ชนิดปะการังที่มีรายงานการพบในประเทศไทย รวม 18 วงศ์ 71 สกุล 273 ชนิด โดยในฝั่งทะเลอ่าวไทยพบ 240 ชนิด และฝั่งทะเลอันดามันพบ 269 และชนิดปะการังเด่นที่พบในทะเลประเทศไทย เช่น ปะการังเขากวาง (Acropora spp.) และปะการังโขด (Porites lutea) และอื่นๆ เป็นต้น ดังรูปที่แสดงด้านล่าง

 

ที่มา: http://www.nemotour.com/knowledge/coral.htm 

 

 

แผนที่แนวปะการังในประเทศไทย

  

สถานการณ์ปะการัง พ.ศ. 2549 - 2553

การประเมินสถานภาพปะการัง 

    ปะการังมีชีวิต(Living Coral)

  ปะการังตาย(Death Coral)

            สถานภาพ

                   ≥ 3

                   1

        สภาพสมบูรณ์มาก

                     2

                   1

           สภาพสมบูรณ์

                     1

                   1

      สภาพสมบูรณ์ปานกลาง

                     1

                   2

            สภาพเสียหาย

                     1

                 ≥ 3

         สภาพเสียหายมาก

*การประเมินสถานภาพปะการังตามอัตราส่วนการปกคลุมที่ใกล้เคียง

สถานภาพปะการังปี 2558

สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ประเมินสถานภาพของปะการัง โดยใช้อัตราส่วนระหว่างการปกคลุมพื้นที่ของปะการังมีชีวิต และปะการังไม่มีชีวิต ซึ่งแบ่งช่วงสำรวจออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2538-2541 ช่วงที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2549-2551 และช่วงที่ 3 ระหว่างปี พ.ศ. 2554-2558 มีรายละเอียดดังนี้

ปะการังในประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2554 - 2558 มีแนวโน้มเสียหายและเสียหายมากเพิ่มขึ้น โดย พบสัดส่วนความเสียหายประมาณร้อยละ 28.3 และเสียหายมากถึงร้อยละ 50 ในขณะที่สัดส่วนสมบูรณ์ดี และสมบูรณ์มากคิดเป็นร้อยละ 3.7 และ 2 ตามลำดับ 

ดัดแปลงจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน, 2558ข

 

แนวปะการังอ่าวไทย

        ฝั่งทะเลอ่าวไทยมีพื้นที่ปะการังรวมทั้งหมดประมาณ 75,590 ไร่ และมีการสำรวจในบริเวณฝั่งอ่าวไทยทั้งหมด 34,070 ไร่ โดยแบ่งเป็น อ่าวไทยตะวันออก 7,853 ไร่ อ่าวไทยตอนกลาง 25,558 ไร่ และอ่าวไทยตอนล่าง 659 ไร่ (ตารางที่ 1)

        สภาพปะการังปี 2558 แนวปะการังฝั่งตะวันออกและตะวันตกของอ่าวไทย ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ปานกลาง-เสียหายมาก (ตารางที่ 1)

 

ตารางที่ 1 สถานภาพแนวปะการังฝั่งทะเลอ่าวไทย ปี 2558

จังหวัด  พื้นที่ (ไร่) ปริมาณครอบคลุมพื้นที่ (%) สถานภาพ  ชนิดเด่น 
ปะการังมีชีวิต ปะการังตาย ทราย หิน อื่นๆ
อ่าวไทยตะวันออก
ชลบุรี 1,627      
เกาะครามหาดหน้าบ้าน   6.1 61.8 31.9 0.0 0.2 เสียหายมาก ปะการังโขด ปะการังช่องหนาม ปะการังเขากวางโต๊ะ
เกาะครามอ่าวพุดซาวัน   8.7 44.7 46.6 0.0 0.0 เสียหายมาก
เกาะครามน้อยตะวันตก   28.3 56.4 14.5 0.0 0.8 เสียหาย
เกาะอีร้าด้านตะวันออก   15.4 62.3 18.2 3.2 0.9 เสียหายมาก
ระยอง 808  
เกาะเสม็ดอ่าวพร้าว   28.7 41.4 23.2 0.0 6.7 สมบูรณ์ปานกลาง ปะการังโขด ปะการังดอกไม้ ปะการังดอกเห็ด 
เกาะเสม็ดอ่าวลูกโยน   34.1 48.0 15.9 0.0 2.0 สมบูรณ์ปานกลาง
เกาะเสม็ดอ่าวลุงดำ   33.7 61.4 4.9 0.0 0.0 เสียหาย
เกาะเสม็ดอ่าวกิ่วนอก   43.7 47.2 7.3 0.0 1.8 สมบูรณ์ปานกลาง
เกาะกุฎีตะวันตก   45.8 37.9 15.0 0.0 1.3 สมบูรณ์ปานกลาง
เกาะกุฎีตะวันออก   39.8 41.9 17.4 0.0 0.9 สมบูรณ์ปานกลาง
ตราด 5,418  
เกาะกูดอ่าวสับปะรด 3,247 9.5 58.7 30.4 0.7 0.7 เสียหายมาก ปะการังโขด ปะการังลายดอกไม้ ปะการังช่องดาว ปะการังดาวใหญ่ ปะการังสมองใหญ่ ปะการังรังผึ้ง 
เกาะกูดอ่าวกล้วย 6.8 58.0 34.6 0.0 0.6 เสียหายมาก
เกาะกูดอ่าวพร้าว 20.7 63.9 14.6 0.0 0.8 เสียหายมาก
เกาะกูดอ่าวง่ามโข่ 23.3 45.3 22.2 9.2 0.0 เสียหาย
เกาะไม้ซี้เล็กด้านใต้ 2.8 46.9 47.6 2.7 0.0 เสียหายมาก
เกาะกระดานด้านใต้ 2,171 2.1 71.2 26.7 0.0 0.1 เสียหายมาก
อ่าวไทยตอนกลาง
ประจวบคีรีขันธ์ 819       
เกาะทะลุอ่าวกรวด 787 78.9 10.3 0.4 0.0 10.3 สมบูรณ์ดีมาก ปะการังโขด ปะการังช่องแบบเคลือบ ปะการังดอกไม้ ปะการังแผ่นเปลวไฟ ปะการังกาแลคซี่ ปะการังช่องเหลี่ยม ปะการังช่องเล็กแบบเคลือบ 
เกาะสีงข์ ด้านเหนือ 32 55.8 38.4 0.0 0.0 5.9 สมบูรณ์ปานกลาง
ชุมพร 214  
เกาะรังกาจิว 24 75.8 16.2 4.9 0.0 3.1 สมบูรณ์ดีมาก ปะการังโขด ปะการังลายดอกไม้ ปะการังดาวช่องเหลี่ยม ปะการังช่องเหลี่ยม ปะการังกาแลคซี่ ปะการังวงแหวน ปะการังถ้วยสมอง ปะการังผิวยู๋ยี่ ปะการังดอกไม้ทะเลแบบกึ่งก้อน ปะการังลูกโป่งใหญ่ ปะการังดอกกะหล่ำ ปะการังเขากวาง  
เกาะสาก 22 73.0 16.4 0.0 0.0 2.6 สมบูรณ์ดีมาก
เกาะอีแรด 60 87.9 4.0 0.0 0.0 11.1 สมบูรณ์ดีมาก
เกาะละวะ 60 66.2 11.3 0.0 0.0 22.0 สมบูรณ์ดีมาก
เกาะง่ามใหญ่ 24 16.5 63.7 10.0 9.4 0.0 เสียหายมาก
เกาะง่ามน้อย 8 50.9 40.8 2.9 3.3 2.2 สมบูรณ์ปานกลาง
เกาะทะลุ 16 80.9 5.7 0.0 4.6 8.8 สมบูรณ์ดีมาก
สุราษฎร์ธานี 24,525  
เกาะเต่า 1,993             ปะการังผิวยู่ยี่ ปะการังเขากวาง ปะการังโขด ปะการังลายดอกไม้  ปะการังเขากวาง ปะการังช่องเล็กแบบเคลือบ ปะการังดาวใหญ่ ปะการังถ้วยสมอง ปะการังวงแหวน ปะการังสมองใหญ่ ปะการังรังผึ้ง ปะการังช่องเล็กแบบเคลือบ ปะการังดอกไม้ทะเลแบบกึ่งก้อน ปะการังวงแหวน ปะการังลูกโป่งเล็ก ปะการังถ้วยหนาม ปะการังสมองร่องยาว ปะการังช่องเหลี่ยม 
อ่าวหินวง   51.8 31.9 7.3 0.0 9.0 สมบูรณ์ดี
อ่าวกล้วยเถื่อน   67.2 26.6 0.0 2.0 4.2 สมบูรณ์ดีมาก
อ่าวลึก   62.4 21.8 0.0 3.6 12.2 สมบูรณ์ดีมาก
เกาะพะงัน 7,993            
อ่าวกง   28.1 70.4 0.0 0.0 1.5 เสียหายมาก
อ่าวแม่หาด   65.7 29.0 1.2 0.0 4.1 สมบูรณ์ดี
หาดยาว   29.4 68.7 1.1 0.0 0.8 เสียหาย
อ่าววกตุ่ม   54.1 45.4 0.0 0.0 0.5 สมบูรณ์ปานกลาง
บ้านค่าย   46.6 48.3 0.0 0.0 5.1 สมบูรณ์ปานกลาง
แหลมริ้น   57.9 57.9 38.5 0.0 3.6 สมบูรณ์ดี
เกาะกงนุ้ย   73.3 73.3 17.3 0.0 9.4 สมบูรณ์ดีมาก
เกาะสมุย 13,777            
บ้านบางปอ   51.6 44.2 0.0 0.0 4.2 สมบูรณ์ปานกลาง
แหลมสอ   39.4 42.8 7.9 0.0 9.9 สมบูรณ์ปานกลาง
แหลมหนัน   68.8 23.3 0.0 0.0 7.9 สมบูรณ์ดีมาก
หาดเฉวงเกาะมัดหลัง   58.5 36.2 0.0 0.0 5.3 สมบูรณ์ดีมาก
เกาะแม่เกาะตะวันออก 229 72.8 21.3 0.7 0.0 5.1 สมบูรณ์ดีมาก
เกาะแม่เกาะตะวันตก 34.9 63.5 0.0 0.0 4.6 เสียหายมาก
เกาะแม่เกาะตะวันตกเฉียงใต้ 53.1 44.3 0.0 0.0 2.6 สมบูรณ์ปานกลาง
เกาะวัวตาหลับ 533            
อ่าวทองหลาง   49.2 25.4 7.5 0.0 17.9 สมบูรณ์ดี
อ่าวตาโต๊ะ   58.6 34.3 2.1 0.0 5.0 สมบูรณ์ดี
อ่าวตาช้วง   57.7 39.6 0.0 0.0 2.7 สมบูรณ์ปานกลาง
อ่าวบ่อน้ำ   29.5 68.2 0.0 0.0 2.3 เสียหาย
อ่าวไทยตอนล่าง
นครศรีธรรมราช 412  
เกาะกระใหญ่ตะวันออก   59.9 18.5 10.9 10.7 0.0 สมบูรณ์ดีมาก ปะการังจาน ปะการังเขากวางแบบกิ่ง 
เกาะกระใหญ่ตะวันตก   91.0 7.8 0.0 1.2 0.0 สมบูรณ์ดีมาก
ระหว่างเกาะกระกลาง และเกาะกระเล็ก   100.0 0.0 0.0 0.0 0.0 สมบูรณ์ดีมาก
เกาะกระเล็กด้านใต้   88.4 11.2 0.0 0.3 0.0 สมบูรณ์ดีมาก
สงขลา 167  
เกาะหนู 71 13.2 17.2 28.5 29.5 11.6 สมบูรณ์ปานกลาง ปะการังก้อน ปะการังจาน ปะการังแผ่น ปะการังโขด 
เกาะแมว 61 21.9 19.2 19.9 33.9 5.1 สมบูรณ์ปานกลาง
เกาะขาม 35 58.3 17.4 15.4 5.2 3.7 สมบูรณ์ดีมาก
                 
ปัตตานี 80  
เกาะโลซิน 80 51.8-94.7 0.51-30.2 0-7.4 0-22.58 0-6.9 สมบูรณ์ดี-ดีมาก ปะการังเขากวางแบบกิ่ง      ปะการังโขด  ปะการังดอกกะหล่ำ

 ที่มา : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

 

แนวปะการังทะเลอันดามัน

      ฝั่งทะเลอันดามันมีพื้นที่ปะการังรวมทั้งหมดประมาณ 73,365 ไร่ และมีการสำรวจในบริเวณฝั่งอันดามันทั้งหมด 13,666 ไร่ (ตารางที่ 2) แนวปะการังฝั่งทะเลอันดามันส่วนใหญ่ ก่อตัวตามชายฝั่งด้านตะวันออกของเกาะต่างๆ เพราะเป็นด้านที่กำบังคลื่นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทะเลอันดามันอยู่ในเขตทะเลลึกได้รับตะกอนฟุ้งกระจายจากพื้นทะเลน้อยกว่าในเขตน้ำตื้น จึงเหมาะแก่การพัฒนาของแนวปะการังมาก เพราะแสงส่องถึงพื้นได้ดี สามารถพบแนวปะการังได้ที่ระดับน้ำลึก 20-30 เมตร ในที่ตื้นพบกระจายที่ระดับน้ำลึก 3-10 เมตร

      สถานภาพแนวปะการังปี 2558 แนวปะการังส่วนใหญ่ทุกจังหวัดฝั่งทะเลอันดามันจัดอยู่ในสภาพสมบูรณ์ปานกลาง จังหวัดที่มีแนวโน้มสมบูรณ์ดีมากที่สุดคือจังหวัดสตูล และจังหวัดที่แนวโน้มไปทางเสื่อมโทรมมากที่สุดคือ ภูเก็ต

 

ตารางที่ 2 สถานภาพแนวปะการังฝั่งทะเลอันดามัน ปี 2558

จังหวัด  พื้นที่ (ไร่)  ปริมาณครอบคลุมพื้นที่ (%) สถานภาพ  ชนิดเด่น 
ปะการังมีชีวิต ปะการังตาย ทราย หิน อื่นๆ
ภูเก็ต 1,040  
อ่าวกะตะ 93 28.4 71.6 0.0 0.0 0.0 เสียหาย ปะการังดาวใหญ่ ปะการังดาวเล็ก ปะการังสีน้ำเงิน ปะการังช่องเล็ก ปะการังโขด ปะการังช่องเหลี่ยม ปะการังวงแหวน ปะการังดอกไม้ทะเล ปะการังลายดอกไม้ ปะการังเห็ด ปะการังลายลูกฝูก ปะการังลูกโป่งเล็ก ปะการังถ้วยสมอง ปะการังรังผึ่ง ปะการังกลีบดอกไม้
อ่าวกะตะน้อย 87 29.9 70.1 0.0 0.0 0.0 เสียหาย
เกาะแวว 13 39.1 60.2 0.7 0.0 0.0 สมบูรณ์ปานกลาง
อาวบางเทา 213 31.5 66.8 1.7 0.0 0.0 เสียหาย
อ่าวปาตองเหนือ 239 48.4 51.6 0.0 0.0 0.0 สมบูรณ์ปานกลาง
อ่าวป่าตองใต้ 395 25.4 74.6 0.0 0.0 0.0 เสียหายมาก
ตรัง 4,644  
เกาะรอกใน 1,344 52.8 39.0 7.8 0.0 0.0 สมบูรณ์ปานกลาง ปะการังดาวใหญ่ ปะการังใบร่องหนาม ปะการังสมองร่องใหญ่ ปะการังถ้วยสมอง ปะการังโขด ปะการังดอกไม้ ปะการังดอกกะหล่ำ ปะการังช่องเหลี่ยม  ปะการังแหวน ปะการังดอกไม้ทะเล ปะการังกาแล็กซี่ ปะการังดาวเล็ก ปะการังเคลือบหนาม ปะการังลายดอกไม้ ปะการังเห็ด
เกาะกระดาน 781 49.1 38.6 12.3 0.0 0.0 สมบูรณ์ปานกลาง
เกาะมุกต์ 361 39.6 60.4 - 0.0 0.0 สมบูรณ์ปานกลาง
เกาะตะลิบง 1,057 33.2 55.3 11.5 0.0 0.0 เสียหาย
เกาะไหง 1,031 47.1 51.8 1.1 0.0 0.0 สมบูรณ์ปานกลาง
สตูล 7,982  
เกาะราวี 2,430 47.7 23.7-43.1 9.1-28.5 0.0 0.2 สมบูรณ์ปานกลาง-ดี ปะการังโขด ปะการังผิวยู่ยี่ ปะการังดาวใหญ่  ปะการังรังผึ่ง ปะการังลายดอกไม้ ปะการังถ้วยสมอง ปะการังเขากวาง ปะการังช่องเล็ก ปะการังวงแหวน ปะการังหนามขนุน ปะการังดาวเล็ก ปะการังลูกโป่งเล็ก ปะการังช่องเหลี่ยม ปะการังสีน้ำเงิน ปะการังเห็ด ปะการังดอกกะหล่ำ
เกาะอาดัง 2,816 37.9-64.1 32.4-48.4 3.5-16.9 0.0 0.0 สมบูรณ์ปานกลาง-ดี
เกาะหลีเป๊ะ 1,205 42.5-66.0 23.9-35.4 10.1-22.1 0.0 0.0 สมบูรณ์ปานกลาง-ดีมาก
เกาะบูตัง 823 64.2 31.8 4.0 0.0 0.0 สมบูรณ์ดี
เกาะหินงาม 68 75.8 22.2 2.0 0.0 0.0 สมบูรณ์ดีมาก
เกาะบิสซี่ 367 54.9 17.3 27.8 0.0 0.0 สมบูรณ์ดีมาก
เกาะตาลัง 22 57.2 13.5 29.3 0.0 0.0 สมบูรณ์ดีมาก
 
 ที่มา : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

 

ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ปี 2553

        ปี 2553 เกิดเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวเป็นวงกว้าง จากอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การฟอกขาวเกิดขึ้นทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน จากการสำรวจโดยหลายหน่วยงานพบว่าในแต่ละพื้นที่มีการฟอกขาวมากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดปะการังที่ปกคลุมพื้นที่ว่าเป็นพวกที่ไวต่อการฟอกขาวเพียงใด เช่น ปะการังเขากวาง (Acropora sp.) เป็นชนิดที่ไวต่อการฟอกขาว พื้นที่ที่พบปะการังเขากวางเป็นชนิดเด่นจะได้รับผลกระทบจากการฟอกขาวมาก ลักษณะการก่อตัวแนวปะการังถือเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการฟอกขาว แนวปะการังที่ได้รับอิทธิพลจากคลื่นลมอยู่เสมอจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า เพราะเป็นด้านที่อุณหภูมิไม่สูงอยู่ตลอดเวลา เช่น ด้านตะวันตกของเกาะต่างๆในทะเลอันดามัน

        เมื่อประมาณภาพรวมทั่วประเทศ พบว่าปะการังแต่ละแห่งมีการฟอกขาวมากถึงร้อยละ 30 – 95  พบปะการังเกือบทุกชนิดฟอกขาวหมด ยกเว้นเพียง 3 – 4 ชนิดที่ทนต่อการฟอกขาวได้ เช่น ปะการังสีน้ำเงิน (Heliopora coerulea) ปะการังลายดอกไม้ (Pavona decussata) และปะการังดาวใหญ่ (Diploastrea heliopora)

  

การฟื้นฟูปะการัง

        การฟื้นฟูปะการัง คือการทำให้แนวปะการังกลับมามีสภาพความอุดมสมบูรณ์และสามารถเอื้อประโยชน์ในแง่ต่าง ๆ ให้กับสิ่งมีชีวิตในทะเลรวมไปถึงมนุษย์ การฟื้นฟูสามารถดำเนินการได้หลายวิธี ได้แก่


        1. การป้องกันและลดปัจจัยสาเหตุของการเสื่อมโทรมของแนวปะการัง ได้แก่ การจัดการพื้นที่แนวปะการัง เช่น การแบ่งเขตการใช้ประโยชน์ให้มีความเหมาะสมตามลักษณะพื้นที่ การผูกทุ่นเพื่อจอดเรือแทนการทิ้งสมอ การควบคุมไม่ให้มีน้ำเสีย ขยะ และตะกอนลงสู่ทะเลหรือแนวปะการัง วิธีเหล่านี้เป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดในการป้องกันและรักษาแนวปะการังไว้

        2. การฟื้นฟูปะการังที่ดำเนินการกับแนวปะการังโดยตรง แบ่งได้เป็น

            2.1 การฟื้นฟูทางกายภาพ (Physical restoration) เป็นการปรับปรุงสภาพพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการฟื้นตัวของปะการัง ได้แก่

- การปรับพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปให้เหมาะสมต่อการฟื้นตัวตามธรรมชาติของปะการัง เช่น การที่นักดำน้ำร่วมกันพลิกปะการังที่ล้มคว่ำให้กลับสู่สภาพที่จะเจริญเติบโตได้ต่อไปตามธรรมชาติ การเก็บขยะในแนวปะการัง นับเป็นการฟื้นฟูรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ปะการังสามารถดำรงชีวิตและเติบโตต่อไปได้ตามธรรมชาติ

- การสร้างพื้นที่ลงเกาะให้กับปะการัง ในรูปของปะการังเทียมโดยใช้วัสดุต่าง ๆ เช่น หิน เซรามิค คอนกรีต นอกจากนี้การใช้ปะการังเทียมอาจมีวัตถุประสงค์นอกเหนือไปจากการเพิ่มพื้นที่ลงเกาะสำหรับปะการัง ได้แก่ การเป็นแหล่งอาศัยสัตว์น้ำอื่น ๆ การทำประมงพื้นบ้าน ป้องกันเครื่องมือประเภทอวนลาก เป็นแหล่งดำน้ำเพื่อลดการใช้ประโยชน์ของนักดำน้ำในแนวปะการังธรรมชาติ 

ในบางครั้งการฟื้นฟูทางกายภาพเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้การฟื้นตัวของแนวปะการังเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการฟื้นฟูทางชีวภาพต่อไป


2.2 การฟื้นฟูทางชีวภาพ (Biological restoration) เป็นการฟื้นฟูที่ตัวปะการังโดยตรง ซึ่งวิธีที่ดำเนินการในปัจจุบัน ได้แก่การย้ายปะการังบางส่วนจากแหล่งที่มีความสมบูรณ์ไปยังบริเวณที่ต้องการฟื้นฟู โดยมีหลักสำคัญคือต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริเวณที่เป็นแหล่งพันธุ์ (donor reef area) ซึ่งการฟื้นฟูวิธีนี้ในประเทศไทยมีวิธีดำเนินการหลากหลายรูปแบบ

 

ปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูแนวปะการัง

        1. ความเหมาะสมของพื้นที่และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและการพัฒนาของแนวปะการัง 

        สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ได้แก่ บริเวณที่มีน้ำใส มีแสงส่องถึงในปริมาณพอเหมาะ มีความเค็มคงที่ในช่วง 30-36 ส่วนในพันส่วน (ppt) อุณหภูมิน้ำทะเลอยู่ในช่วง 25-30 องศาเซลเซียส กระแสน้ำและคลื่นลมไม่รุนแรงเกินไป มีพื้นทะเลมั่นคงพอที่ปะการังจะลงเกาะ หลายพื้นที่ชายฝั่งของไทย ปะการังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้แต่ไม่สามารถพัฒนาเป็นแนวปะการังได้ ดังนั้นการฟื้นฟูแนวปะการังจึงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของพื้นที่และสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้นเป็นอันดับแรก โดยทั่วไปมักเป็นบริเวณที่เคยมีแนวปะการังอยู่ก่อนแล้วแต่เกิดความเสื่อมโทรมลงด้วยสาเหตุต่าง ๆ 

        แนวปะการังน้ำตื้นชายฝั่งส่วนใหญ่ที่มักได้รับผลกระทบจากตะกอนตามธรรมชาติ แต่แนวปะการังเหล่านี้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมบริเวณชายฝั่งและพัฒนาเติบโตต่อไปได้ และยังเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ แต่อาจมีสภาพไม่สวยงามเท่ากับแนวปะการังที่อยู่ในบริเวณที่ไกลจากชายฝั่งซึ่งได้รับอิทธิพลจากตะกอนน้อยกว่า แนวปะการังหลายบริเวณที่ได้รับอิทธิพลจากตะกอนชายฝั่งเหล่านี้ถือว่าเป็นสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่อาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าฟื้นฟู

        2. สาเหตุและแก้ไขสาเหตุความเสื่อมโทรมของแนวปะการัง

        การฟื้นฟูแนวปะการังอย่างยั่งยืน ต้องแก้ไขที่ต้นเหตุความเสื่อมโทรมของแนวปะการังในบริเวณที่จะฟื้นฟู โดยเฉพาะบริเวณที่แนวปะการังเสื่อมโทรมจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งเกิดการเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่องทำให้สิ่งแวดล้อมบริเวณนั้นเสียหายอย่างมาก จนยากที่จะฟื้นฟูได้ในระยะเวลาอันสั้น เช่น การชะล้างตะกอนจากชายฝั่งจากการเปิดหน้าดิน การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง การปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล การนำเรือผ่านเข้าออกในแนวปะการัง การทิ้งสมอลงในแนวปะการัง หากแก้ไชสาเหตุของปัญหาได้การฟื้นฟูแนวปะการังในบริเวณนั้นก็จะประสบความสำเร็จ

        3. กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

        ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองปะการังอยู่หลายฉบับ ทั้งการคุ้มครองตัวปะการังมีชีวิตและซากปะการัง กฎหมายคุ้มครองพื้นที่และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับแนวปะการังในบางพื้นที่ การดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับปะการังควรต้องคำนึงถึงเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะพื้นที่อุทยานแห่งชาติเนื่องจากการฟื้นฟูปะการังไม่ได้อยู่ในข้อยกเว้นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย

        4. ความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่

        ความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการฟื้นฟูแนวปะการัง เนื่องจากการฟื้นฟูปะการังเป็นกิจกรรมที่ใช้ทั้งแรงงาน เวลา และงบประมาณในการฟื้นฟูสูง การได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ทำให้การฟื้นฟูประสบความสำเร็จได้ง่ายการการดำเนินการผ่ายเดียว โดยเฉพาะการฟื้นฟูปะการังโดยชุมชนที่ตระหนักถึงความสำคัญของแนวปะการังในพื้นที่ของตนและมีศักยภาพในการดำเนินการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง เช่น  การร่วมกันดูแลสภาพแวดล้อม การสอดส่องไม่ให้มีกิจกรรมที่การทำลายปะการังเกิดในพื้นที่ ไปจนถึงการร่วมดำเนินกิจกรรมฟื้นฟูปะการัง การดูแลพื้นที่ฟื้นฟู และร่วมกันวางแผนจัดการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่ดำเนินการฟื้นฟูปะการัง

        5. วิธีการที่เหมาะสมในการฟื้นฟูปะการังในแต่ละพื้นที่

        สภาพแวดล้อมแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำและพื้นท้องทะเล ชนิด จำนวนและที่มาตัวอ่อนปะการังที่มีอยู่ในมวลน้ำที่แตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่และฤดูกาล เป็นต้น  ดังนั้นการฟื้นฟูปะการังจึงควรปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือวิธีการให้ความเหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ ภายใต้พื้นฐานทางวิชาการ แม้ในต่างประเทศเองก็ยอมรับว่าการฟื้นฟูโดยการปลูกปะการังยังสามารถทำได้ในระดับการศึกษาวิจัยเท่านั้น เนื่องจากใช้งบประมาณ กำลังคน เวลามาก และไม่มีสิ่งที่จะรับประกันความสำเร็จในระยะยาว

        6. การประเมินความสำเร็จของการดำเนินงาน

        การประเมินความสำเร็จในการฟื้นฟูแนวปะการังควรกำหนดขอบเขตและเป้าหมายของการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมและสามารถตรวจวัดได้ เช่น การกำหนดขอบเขตพื้นที่ดำเนินการ ความแตกต่างของพื้นที่ฟื้นฟูกับบริเวณใกล้เคียงที่ไม่ได้ทำการฟื้นฟูภายในระยะเวลาต่าง ๆ อาจพิจารณาจากอัตรารอดของปะการังแต่ละพื้นที่ โครงสร้างสังคมสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้น องค์ประกอบชนิดของสัตว์น้ำที่เปลี่ยนแปลงไป รูปแบบการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ ฯลฯ ควรกำหนดช่วงเวลาการสำรวจทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการฟื้นฟูในระยะเวลาต่างๆ และมีการติดตามข้อมูลเป็นครั้งคราวอย่างต่อเนื่อง

        การฟื้นฟูที่ดำเนินการกับปะการังโดยตรง ไม่ใช่วิธีการหลักในการแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของแนวปะการัง แต่ควรเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะทำเพื่อให้ได้แนวปะการังกลับคืนมา


ที่มา :

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. 2550. รายงานสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2550. สืบค้นจาก http://www.dmcr.go.th/pr/webpage/pr_FreeMedias.htm (28 มิ.ย.54)

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. รายงานเบื้องต้นผลกระทบการเกิดปะการังฟอกขาวปี 2553. สืบค้นจากฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง   http://www.dmcr.go.th/marinecenter/coral-lesson6.php (28 มิ.ย.54)

กรมทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่ง , 2551. รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการจัดทำแผนฟื้นฟูเเนวปะการัง.155 หน้า.

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. ระบบฐานข้อมูลกลางและมาตรฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. "ปะการัง" [ออนไลน์]. เข้าถึงจาก: http://km.dmcr.go.th/th/c_3. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2561 

นลินี ทองแถม. การฟื้นฟูปะการังและปัจจัยที่ควรพิจารณา. สืบค้นจาก http://km.dmcr.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=109:2009-04-30-08-53-59&catid=81:2009-02-16-07-56-26&Itemid=28 (4 ก.ค.54)

สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน.  2558ข.  คัมภีร์ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (2558).  กรุงเทพมหานคร: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  246 หน้า.