.

สื่อออนไลน์

Search this site

ลงทะเบียน

MKH Update

สถิติการเข้าชม


 

การผลิตพลังงาน

 

          ในประเทศไทยมีการใช้พลังงาน 2 รูปแบบ ได้แก่ พลังงานหลัก (พลังงานปิโตรเลียม) และพลังงานทดแทน ซึ่งประกอบไปด้วยพลังงานคืนรูปและไม่คืนรูป โดยการผลิตพลังงานที่เกี่ยวข้องกับทางทะเลในประเทศไทยนั้นแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ พลังงานหลัก (พลังงานจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม) และพลังงานคืนรูป (พลังงานลม)

 

พลังงานหลัก (พลังงานจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม)

พลังงานคืนรูป (พลังงานลม)

 

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 

        ปิโตรเลียม เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน โดยมีธาตุองค์ประกอบหลัก 2 ชนิด คือ คาร์บอน ( C)  และไฮโดรเจน (H) และอาจมีธาตุอื่นๆปนอยู่ด้วย เช่น กำมะถัน ออกซิเจน ไนโตรเจน ฯลฯ ปิโตรเลียมสามารถแบ่งได้ 3 ประเภทหลัก ตามการผลิตคือ

        1. น้ำมันดิบ (Crude Oil)

        2. ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas)

        3. ก๊าซธรรมชาติเหลว (Condensate)

 

การพัฒนาด้านปิโตรเลียมของประเทศไทย

        ประเทศไทยเริ่มมีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตั้งแต่ปี พ.ศ.2464 ในระยะแรกการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจะดำเนินการโดยรัฐบาลทั้งหมด แหล่งสำรวจแห่งแรกเป็นแหล่งบนบก คือ แอ่งฝาง และมีการพัฒนาทางด้านการสำรวจและผลิตมาโดยตลอด ต่อมาปี 2504 รัฐบาลประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ในปี 2510 ได้มีประกาศเชิญชวนให้ยื่นสิทธิการขอสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในเขตไหล่ทวีป (อ่าวไทย) และทะเลอันดามัน มีบริษัทที่ได้รับอนุญาตดำเนินการทั้งสิ้น 6 บริษัท การดำเนินการสำรวจของบริษัทที่ได้รับสัมปทานพบแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่หลายแหล่ง เช่น แหล่งเอราวัณ และ แหล่งบงกช การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมพัฒนาขึ้นอย่างมากในปี 2524 จากการค้นพบแหล่งเอราวัณ การนำก๊าซธรรมชาติมาผลิตกระแสไฟฟ้าและเชื้อเพลิงอุตสาหกรรม ทำให้บริษัทน้ำมันต่างชาติหลายบริษัทสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และสำรวจพบแหล่งปิโตรเลียมหลายแหล่งทั้งบนบกและพื้นดินไหล่ทวีปในทะเล

         ปัจจุบันประเทศไทยมีสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตั้งแต่ปี 2524 จนถึงปี 2549  ที่ดำเนินการอยู่ทั้งสิ้น 63 สัมปทาน 81 แปลงสำรวจ โดยเป็นแปลงสำรวจบนบก 39 แปลง ในทะเลอ่าวไทย 39 แปลง และทะเลอันดามัน 3 แปลง  ในส่วนพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิอธิปไตยทับซ้อนไทย-กัมพูชา 4 สัมปทาน 9 แปลงสำรวจ เป็นพื้นที่ประมาณ 24,250 ตารางกิโลเมตร ส่วนที่จัดหาจากแหล่งในประเทศ ประกอบด้วยน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ และคอนเดนเสท มีปริมาณบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน

 

พื้นที่ผลิตและปริมาณการผลิตปิโตรเลียม

         ประเทศไทยมีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเล โดยส่วนใหญ่ปิโตรเลียมมาจากในทะเลซึ่งอยู่บริเวณอ่าวไทย (รูปที่ 1) ซึ่งในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 มีจำนวนสิ่งติดตั้งที่ใช้ประกอบกิจการในทะเลบริเวณอ่าวไทยจำนวน 452 สิ่งติดตั้ง แบ่งเป็นประเภทแท่นผลิต 406 แท่น แท่นที่พักอาศัย 11 แท่น แท่นอื่น ๆ (เช่น แท่นเผาก๊าซ แท่นกำจัดปรอท แท่นอุปกรณ์เพิ่มความดัน) 18 แท่น และเรือผลิต เรือกักเก็บ และแท่นผลิตชั่วคราว 17 สิ่งติดตั้ง (กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ, 2560)

 

รูปที่ 1 แผนที่ของสิ่งติดตั้งที่ใช้ประกอบกิจการในทะเลบริเวณอ่าวไทย เดือนธันวาคม พ.ศ. 2559

(ที่มา : ข้อมูลจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ, 2560; แผนที่จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ
ภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน), 2560)

 

 

การผลิตปิโตรเลียม ปี 2558 

รายได้ของรัฐจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม แบ่งได้เป็นสองส่วน คือ ส่วนแรกประกอบด้วยค่าภาคหลวงปิโตรเลียม และเงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ ซึ่งจัดเก็บโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ส่วนที่สองเป็นภาษีเงินได้ปิโตรเลียมซึ่งจัดเก็บโดยกรมสรรพากรภายใต้พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ทั้งนี้รายได้ของรัฐที่ได้จากพื้นที่ร่วมพัฒนา ไทย-มาเลเซีย ประกอบด้วย ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ และ รายได้อื่น ๆ

รายได้ของรัฐจากปิโตรเลียม และมูลค่าปิโตรเลียมมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในช่วง พ.ศ. 2554 - 2556 และลดลงในช่วง พ.ศ. 2556 – 2559 ซึ่งสาเหตุเกิดจากราคาน้ำมันของโลกที่ลดลงในช่วง พ.ศ. 2557 - 2558 ดังแสดงในรูปที่ 2 และ 3  ทั้งนี้ พ.ศ. 2559 รายได้ของรัฐจากปิโตรเลียมรวมทั้งสิ้นลดลงเหลือ 0.11 ล้านล้านบาท และมูลค่าปิโตรเลียมลดลงเหลือ 0.34 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตามปริมาณการผลิตปิโตรเลียมเมื่อเทียบเท่าน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2554 - 2559

การผลิตปิโตรเลียม ปี 2553

 

รูปที่ 2 รายได้ของรัฐจากปิโตรเลียม พ.ศ. 2554 – 2559

(ที่มา : ดัดแปลงจากรมเชื้อเพลงธรรมชาติ, 2560)

 

รูปที่ 3 ปริมาณและมูลค่าจากปิโตรเลียม พ.ศ. 2554 – 2558

(ที่มา : ดัดแปลงจากรมเชื้อเพลงธรรมชาติ, 2560)

 

จากข้อมูลที่แสดงข้างต้น (รูปที่ 2 และ 3) เป็นข้อมูลของปิโตรเลียมที่ได้จากการผลิตและสำรวจทั้งบนบกและในทะเล ซึ่งใน พ.ศ. 2559 กรมเชื้อแพลิงธรรมชาติได้แยกค่าภาคหลวงที่จัดเก็บได้จากการผลิตและสำรวจปิโตรเลียมในทะเลและบนบก โดยเป็นมูลค่า 38,512.96 และ 2,863.44 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 93 และ 7 ของค่าภาคหลวงที่จัดเก็บทั้งหมด ตามลำดับ

 

 

พลังงานทดแทน         

พลังงานทดแทนที่ได้จากกิจกรรมการใช้ประโยชน์ตามแนวชายฝั่ง

          พลังงานทดแทนที่ได้จากกิจกรรมการใช้ประโยชน์ตามแนวชายฝั่ง ได้แก่ พลังงานที่มาจากลม ซึ่งใน พ.ศ. 2558 และ 2559 บริเวณ 23 จังหวัดชายทะเลไม่รวมพัทลุง มีโรงไฟฟ้าพลังงานลมครอบคลุมถึง 14 จังหวัด (รูปที่ 4) โดยโรงไฟฟ้าพลังงานทั่วประเทศสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 233.90 และ 507.00 เมกะวัตต์ใน พ.ศ. 2558 และ 2559 ตามลำดับ (รูปที่ 5) ซึ่งใน พ.ศ. 2559 นั้นมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมเพิ่มขึ้นจาก พ.ศ. 2558 เป็น 2 เท่าเนื่องจากว่าใน พ.ศ. 2558 มีการลงทุนเพิ่มในด้านพลังงานลมถึง 32,814 ล้านบาท

          อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้าพลังงานลมตามแนวชายฝั่งมีกำลังผลิตเพียง 16.55 และ 16.10 เมกะวัตต์ใน พ.ศ. 2558 และ 2559 ตามลำดับ ซึ่งแสดงว่าการลงทุนทางด้านพลังงานลมนั้นไม่ได้อยู่ในบริเวณจังหวัดชายทะเล

          สถิติกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ปี 2558-2559

 

รูปที่ 4 แผนที่แสดงโรงไฟฟ้าพลังงานลมใน พ.ศ. 2558 และ 2559

(ที่มา : กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, 2560)

 

 

รูปที่ 5 กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม พ.ศ. 2558 - 2559

(ที่มา : กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, 2560)

 

 

รูปที่ 6 แผนที่ความเร็วลมปี พ.ศ. 2558

(ที่มา : กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, 2559)

 

 

ที่มา

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน. รายงานประจำปี พลังงานทดแทน. [ออนไลน์]. 2560. แหล่งที่มา http://www.dede.go.th/main.php?filename=index (ธันวาคม 2560)

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ.  2559.  รายงานประจำปี 2558.  กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน. กรุงเทพฯ.  178 หน้า.

 


bottom

top

Latest News

Popular


bottom