.

สื่อออนไลน์

Search this site

ลงทะเบียน

MKH Update

สถิติการเข้าชม


 

ป่าชายเลนในประเทศไทย

 

            ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่ประกอบด้วยพืชและสัตว์นานาชนิด ดำรงชีวิตร่วมกันในสภาพแวดล้อมที่เป็นดินเลน น้ำกร่อย หรือมีน้ำทะเลท่วมถึงสม่ำเสมอ พบทั่วไปตามที่ราบปากแม่น้ำ อ่าว บริเวณชายฝั่งทะเลในเขตน้ำขึ้นน้ำลง ทะเลสาบ และบริเวณรอบเกาะแก่งต่างๆ

            ป่าชายเลนประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิดหลายตระกูล และเป็นพันธุ์ไม้ไม่ผลัดใบ (evergreen species) ซึ่งมีลักษณะทางสรีรวิทยาและความต้องการสิ่งแวดล้อมที่คล้ายกัน ส่วนใหญ่ประกอบด้วยพันธุ์ไม้สกุลโกงกาง (Rhizophora sp.) เป็นไม้สำคัญและมีไม้ตระกูลอื่นบ้าง ตัวอย่างเช่น ถั่วดำ ถั่วขาว พังกาหัวสุมดอกแดง โปรงขาว โปรงแดง ตะบูนดำ ตะบูนขาว แสมขาว แสมทะเล ลำพู ลำพูทะเล ตาตุ่มทะเล เหงือกปลาหมอ เป็นต้น

alt

โกงกาง

 alt

แสม

 alt

เสม็ด

 alt

ตะบูน

 

            สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของป่าชายเลนมีความแตกต่างออกไปอย่างมากจากป่าชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะดิน ดินในป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์สูงจากธาตุอาหารที่มาจากการกันเซาะตามชายฝั่ง และแหล่งน้ำลำธาร สารอินทรีย์จากซากพืชซากสัตว์ในบริเวณป่าชายเลนเอง โดยเฉพาะใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถมกันเป็นจำนวนมาก แพลงค์ตอนพืชและสาหร่าย น้ำบริเวณนี้มีความเค็มค่อนข้างต่ำ ระดับความเค็มของน้ำเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามระดับน้ำที่ขึ้นลงและปริมาณน้ำจืดไหลมาจากแม่น้ำลำคลอง
 
            สัตว์ต่างๆที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน ต่างก็ได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากสัตว์ในป่าบกทั่วไปเช่นกัน โดยเฉพาะสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามพื้นป่า ซึ่งอาศัยคืบคลานหรือเกาะหรือขุดรูอยู่ตามพื้นดิน รวมทั้งชนืดที่อาศัยอยู่ในน้ำจะต้องมีการปรับตัวอย่างมากเพื่อการอยู่รอด เนื่องจากต้องประสบกับสภาวะต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เป็นประจำหรือต้องอยู่ในสภาพไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตโดยทั่วไป เช่น สภาวะที่ทำให้มีการสูญเสียน้ำออกจากลำตัว สภาพอุณหภูมิสูง สภาพที่มีปริมาณออกซิเจนค่อนข้างต่ำของดินเลน และการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำ สัตว์พวกนี้ได้แก่ หอย ปู กุ้ง หนอนตัวกลม หนอนตัวแบน ไส้เดือนทะเล และครัสเตเชียน (สัตว์ไม่มีกระดูสันหลังจำพวกกุ้ง ปู) เป็นต้น
 
            ชุมชนในป่าชายเลนจะประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆจำนวนมากที่สามารถปรับตัวอยู่ได้ ทำให้ป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่วางไข่และอนุบาลตัวอ่อนและที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิด

 

ประโยชน์ของป่าชายเลน [3]

            1. เป็นแหล่งพลังงาน อาหาร และที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ตามธรรมชาติ 

            2. เป็นแนวชายป้องกันฝั่งทะเลจากการกัดเซาะพังทลาย กำบังคลื่น ลม กระแสน้ำและพายุ 

            3. เป็นที่ดูดซับน้ำเสียจากบ้านเรือน 

            4. เป็นแหล่งวัตถุดิบผลิตภัณฑ์จากไม้ ที่ใช้ในการก่อสร้าง และอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น สิ่งทอและหนังสัตว์ 

            5. เป็นแหล่งเชื้อเพลิง เช่น การทำถ่านจากไม้ในป่าชายเลน 

            6. เป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตอาหาร ยา และเครื่องดื่ม 

            7. เป็นแหล่งแร่ดีบุก 

            8. เป็นแหล่งประมงใกล้ชายฝั่ง แหล่งอาศัยของลูกปลา ลูกกุ้ง และสัตว์น้ำวัยอ่อนอื่นๆ

            9. เป็นที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เช่น หอยแมลงภู่ กุ้ง ปลาในกระชัง เป็นต้น
 

            เอกลักษณ์ของป่าชายเลนที่แตกต่างจากป่าบกอย่างชัดเจน คือ การแพร่กระจายของพันธุ์ไม้มีลักษณะแบ่งออกเป็นแนวเขต (zonation) ค่อนข้างชัดเจน โดยขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพและเคมีภาพของดิน ความเค็มของน้ำ การท่วมถึงของน้ำทะเล กระแสน้ำ การระบายน้ำ และความเปียกชื้นของดิน 



การแบ่งเขตป่าชายเลน (Mangrove Zonation) ตามชนิดของไม้นำ

          เขตต่างๆของพันธุ์ไม้ชายเลนในแต่ละแห่งที่พบในประเทศไทยมีความแตกต่างกันบ้าง โดยทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็น 4 เขตดังนี้ 
[1]


          1. เขตป่าโกงกาง 

                  ประกอบด้วย "โกงกางใบเล็ก" (Rhizophora apiculata) ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นและมีต้น "โกงกางใบใหญ่" (R. mucronata) ขึ้นอยู่ทางด้านนอกริมฝั่งแม่น้ำ โดยมากมักขึ้นเป็นกลุ่มๆ ส่วน แสม มักขึ้นแซมตามชายป่าด้านนอกหรือถัดเข้าไปเพียงเล็กน้อย ซึ่งมองเห็นได้ชัดเพราะมีต้นสูงใหญ่กว่าโกงกางนอกจากนี้ยังมี ประสัก และ พังกาหัวสุม ขึ้นแทรกอยู่ทางด้านในของเขตนี้ ซึ่งอยู่ในระยะประมาณ 50-100 เมตร จากชายฝั่งและในบางแห่งพบต้น "จาก" (Nypa) ขึ้นอยู่เป็นหย่อม ๆ ปะปนด้วย โดยเฉพาะในบริเวณแหล่งน้ำกร่อย

          2. เขตป่าตะบูนและโปรง 

                  ประกอบด้วย "ตะบูน" (Xylocarpus) ขึ้นต่อจากเขตต้นโปรงเข้าไป และมีต้นฝาดขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น บางบริเวณอาจมี ลำแพน แทรกอยู่ด้วย

          3. เขตป่าตาตุ่ม และฝาด 

                   เป็นบริเวณที่มีดินเลนแข็งขึ้นอยู่ในระดับที่น้ำจะท่วมถึงในช่วงน้ำเกิด อยู่ถัดจากป่าตะบูนและโปรงขึ้นไป โดยมีต้น ฝาด ขึ้นอยู่หนาแน่นปะปนกับต้น ตาตุ่ม โดยบางแห่งจะมีต้น ลำแพน ขึ้นแทรกอยู่ด้วย

          4. เขตป่าเสม็ด 

                   ประกอบด้วย "เสม็ด" ขึ้นอยู่หนาแน่น เป็นเขตสุดท้ายของป่าชายเลนที่น้ำท่วมถึงในช่วงน้ำเกิดหรือท่วมไม่ถึง ติดต่อกับป่าบกหรือทุ่งนา


ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พันธุ์ไม้ของป่าชายเลนขึ้นอยู่เป็นเขตหรือเป็นโซน [2]

             1. ปัจจัยทางกายภาพและเคมีของดิน โกงกางใบใหญ่ชอบดินที่มีสภาพเป็นโคลนนิ่ม ๆ โกงกางใบเล็กชอบดินเลนที่ไม่นิ่มเกินไป ไม้แสมชอบบริเวณชายหาดที่มีความลาดชันต่ำ สามารถทนต่อสภาพดินทรายได้เมื่อบริเวณนั้นมีน้ำทะเลท่วมถึง ไม้ถั่วขาวจะขึ้นในบริเวณดินเหนียวที่มีลักษณะค่อนข้างแข็ง มีชั้นของฮิวมัสและมีการระบายน้ำที่ดี ต้นจากจะเป็นส่วนประกอบที่สำคัญตามบริเวณป่าชายเลนที่มีสภาพอิ่มตัวด้วยน้ำ พวกปรงทะเลจะมีกระจายมากในบริเวณดินแฉะและน้ำกร่อย 

             2. ความเค็มของน้ำในดิน โกงกางใบใหญ่ ลำพู ลำแพน เป็นพวกซึ่งต้องการความเค็มสูงจึงมักพบขึ้นอยู่บริเวณติดกับทะเล สำหรับไม้แสมทะเลจะมีความทนทานต่อความเค็มในช่วงกว้างโดยเจริญเติบโตได้ดี ตั้งแต่บริเวณ ที่มีความเค็มต่ำจนถึงสูง ความเค็มไม่ใช่เป็นสิ่งสำคัญต่อการเจริญเติบโต แต่มีอิทธิพลต่อการลด การแก่งแย่งของพันธุ์ไม้ต่างชนิดกัน ในประเทศไทย พบว่า เขตการขึ้นอยู่ของพันธุ์ไม้จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ในจังหวัดจันทบุรีเขตนอกสุดที่ติดริมฝั่งทะเล จะมีไม้โกงกางทั้งใบใหญ่และโกงกางใบเล็ก ถัดเข้าไปเป็นเขตของไม้แสมและไม้ถั่ว ถัดจากกลุ่มพวกนี้จะเป็นไม้ตะบูน และตามด้วยกลุ่มไม้โปรงและฝาด เขตสุดท้ายเป็นแนวต่อระหว่างป่าชายเลนกับป่าบก จะมีกลุ่มไม้เสม็ดขึ้นอยู่ สำหรับจังหวัดพังงา จากริมน้ำเป็นกลุ่มไม้ลำพู แสม และกลุ่มไม้โกงกางใบใหญ่ ตามด้วยกลุ่มโกงกางใบเล็ก-ถั่ว ถัดจากกลุ่มนี้เป็นกลุ่มไม้โปร่ง และกลุ่มไม้โปรง-ตะบูน สำหรับเขตสุดท้ายจะเป็นกลุ่มไม้ตาตุ่ม-เป้ง 

 

ประเภทของป่าชายเลนที่พบแพร่กระจายในประเทศไทย

            ป่าชายเลนสามารถแบ่งตามลักษณะกายภาพของพื้นที่และการท่วมถึงของน้ำทะเลมี 4 ชนิด คือ

            Basin forest เป็นชนิดป่าชายเลนที่ขึ้นติดกับผืนแผ่นดินใหญ่ (main land) ตามลำแม่น้ำเล็กๆ จะได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลน้อยมาก กล่าวคือ น้ำทะเลจะท่วมถึงเฉพาะเวลาที่มีน้ำทะเลขึ้นสูงสุด (extreme high tide) เท่านั้น และมีอิทธิพลจากน้ำจืดมาก ลักษณะพันธุ์ไม้จะเป็นต้นเตี้ยและพวกเถาวัลย์

            Riverine forest เป็นชนิดป่าชายเลนที่ขึ้นอยู่บริเวณชายฝั่งแม่น้ำใหญ่ๆที่ติดต่อกับอ่าว ทะเล และทะเลสาบ ป่าประเภทนี้ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลอยู่อย่างสม่ำเสมอ คือจะมีกระแสน้ำท่วมอยู่เป็นประจำวัน โดยพันธุ์ไม้จะเจริญเติบโตค่อนข้างสมบูรณ์ดี

            Fringe forest เป็นชนิดป่าชายเลนที่ขึ้นตามชายฝั่งทะเลติดกับผืนแผ่นดินใหญ่ หรือบริเวณชายฝั่งที่เป็นเกาะใหญ่ๆ ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลอยู่สม่ำเสมอ คือน้ำทะเลจะท่วมถึงอยู่เป็นประจำวัน พันธุ์ไม้ของป่าจะเจริญเติบโตได้ดี และเป็นป่าที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์

            Overwash forest เป็นชนิดป่าชายเลนที่ขึ้นอยู่บนเกาะเล็กๆ จะถูกน้ำทะเลท่วมทั้งหมดเมื่อระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุด การเจริญเติบโตของป่าชนิดนี้ต่ำ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมและน้ำทะเลมาก อีกประการหนึ่งคือ พวกปุ๋ยและธาตุอาหารในป่าชนิดนี้จะถูกชะไปโดยกระแสน้ำออกจากป่าเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้การเจริญเติบโตของป่าชนิดนี้ไม่ดีและป่าจะมีลักษณะ เตี้ย

            ป่าชายเลนนอกจากจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ที่อยู่อาศัย หลบภัย และหาอาหารของสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นลิง นก กุ้ง หอย ปู และปลาชนิดต่าง ๆ มากมายแล้ว ยังช่วยทำหน้าที่ลดความแรงและความเร็วของน้ำ ทำให้ตะกอนที่ไหลมาจากแผ่นดินทับถมอยู่บริเวณผืนป่าชายเลนนั้น ช่วยกรองน้ำที่ไหลลงสู่ทะเลให้มีความใสสะอาดมากขึ้นและตะกอนเหล่านี้ก็จะทับถมกันเป็น แผ่นดินงอกเงยขึ้นมาเรื่อย ๆ อีกด้วย
 
             ในอดีตมีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์กระจายอยู่ทั่วไป แต่จากกระแสการพัฒนาประเทศที่รวดเร็ว ป่าชายเลนหลายแห่งได้ถูกทำลายแล้วทดแทนด้วยการถมดินปรับพื้นที่เป็นเขตอุตสาหกรรมชุมชน นากุ้งและอื่น ๆ ปัจจุบันป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ของไทยจึงเหลืออยู่ไม่มากนัก ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับความคุ้มครองอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หนึ่งในจำนวนนั้น คือ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา
 

การกระจายของพื้นที่ป่าชายเลนในประเทศไทย [4]

             ป่าชายเลนของประเทศไทยขึ้นอยู่กระจัดกระจายตามชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ โดยจะพบทั้งทางด้านฝั่งอ่าวไทย และฝั่งด้านทะเลอันดามัน 

             ภาคกลาง: จังหวัดที่พบได้แก่ บริเวณที่ติดกับชายฝั่งทะเลของจังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ 

             ภาคตะวันออก: แพร่กระจายอยู่ตามชายฝั่งทะเลของจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และฉะเชิงเทรา 

             ภาคใต้: ส่วนมากจะเกิดเป็นแนวยาวติดต่อกันทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกหรือด้านทะเลอันดามัน ในเขตจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล 

             ส่วนชายฝั่งด้านตะวันออกหรือด้านอ่าวไทย จะพบตามปากน้ำและลำน้ำใหญ่ๆ ในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี

             จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าชายเลนมากที่สุดของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดพังงา สตูล กระบี่ และ ตรัง

 

alt

พื้นที่ป่าชายเลนตามจังหวัดชายฝั่งในประเทศไทย

ที่มา : สนิท อักษรแก้ว. ประชากรและทรัพยากรชายฝั่งทะเล (รวมบทความทางวิชาการ). ทุนเมธีวิจัยอาวุโส

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2545.

 

สถานภาพป่าชายเลน [5]

              จากการสำรวจพื้นที่ป่านชายเลนของประเทศไทยในปี 2504  พบว่ามีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 2,299,375 ไร่ หรือร้อยละ 0.72 ของพื้นที่ประเทศ ในระยะ 25 ปีต่อมาพื้นที่ป่าชายเลนได้ลดลงอย่างรวดเร็ว จากการสำรวจเมื่อ พ.ศ.2529 ปรากฏว่ามีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 1,227,674 ไร่ หรือลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง ต่อมาป่าชายเลนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มอัตราการบุกรุกเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2536 พื้นที่ป่าชายเลนคงเหลือเพียง 1,054,266 ไร่ หรือร้อยละ 0.33 ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ถูกทำลาย 1,245,109 ไร่ หรือร้อยละ 54.15 เมื่อเทียบกับปี 2504 สถานการณ์ป่าชายเลน ปี 2504-2547 
 
               ในช่วงหลังจากปี 2536 สถานะการณ์ป่าชายเลนเริ่มดีขึ้น  จากการสำรวจช่วงปี พ.ศ.2543-2557 ปรากฏว่ามีปี 2557 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 1,534,584 ไร่ และพื้นที่ป่าชายเลนในประเทศไทยส่วนใหญ่จะมีมากทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน (ตารางที่ 1) 

  • ในช่วง พ.ศ. 2504 - 2539 ป่าชายเลนที่คงสภาพในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง โดย พ.ศ. 2504 มีพื้นที่ป่าชายเลนที่คงสภาพ 2,299,375.00 ไร่ ในขณะที่ พ.ศ. 2539 มีพื้นที่เพียง 1,047,390.00 ไร่
  • ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 - 2557 ป่าชายเลนที่คงสภาพในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย พ.ศ. 2557 มีพื้นที่เป็น 1,534,584.74 ไร่ โดยเพิ่มขึ้นจาก พ.ศ. 2539 เป็น 1.5 เท่า
  • ใน พ.ศ. 2557 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้สำรวจพื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมด จากภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งพบว่า มีพื้นที่ป่าชายเลนรวมทั้งสิ้น 2,869,489.12 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ตามสภาพการใช้ประโยชน์ได้ดังต่อไปนี้

- ป่าชายเลนที่คงสภาพจำนวน 1,534,584.74 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นอกเขตป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 จำนวน 162,983.63 ไร่

- พื้นที่ที่ถูกแปลงสภาพแปลงเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 439,234.38 ไร่

- พื้นที่ที่ถูกแปลงสภาพแปลงเป็นพื้นที่เกษตรกรรม 340,525.21 ไร่

 

สถานการณ์ป่าชายเลน ปี 2504-2547 

ตารางที่ 1 พื้นที่ป่าชายเลน ปี 2543-2557

 จังหวัด  พื้นที่ (ไร่)
ปี 2543 ปี 2547 ปี 2552 ปี 2557
อ่าวไทย 446,032 373,148 420,168 433,659
 ตราด  60,081 57,504 61,974 59,727
 จันทบุรี  77,456 73,712 75,429 82,595
 ระยอง  12,280 8,709 11,284 10,191
 ชลบุรี  4,862 4,510 5,554 4,552
 ฉะเชิงเทรา  10,476 7,812 7,309 7,585
 สมุทรปราการ  6,936 9,164 12,524 10,643
 กรุงเทพมหานคร  4,138 2,537 3,352 2,527
 สมุทรสาคร  18,590 14,909 25,257 20,386
 สมุทรสงคราม  14,734 14,112 14,273 18,247
 เพชรบุรี  20,463 6,551 18,569 14,840
 ประจวบคีรีขันธ์  3,122 2,706 1,709 1,507
 ชุมพร  45,292 40,535 32,240 37,001
 สุราษฎร์ธานี  46,981 32,510 46,574 47,830
 นครศรีธรรมราช  71,022 66,099 73,550 80,922
 พัทลุง  699 2,041 400 446
 สงขลา  21,910 6,395 7,992 17,179
 ปัตตานี  26,990 23,229 21,994 17,406
 นราธิวาส  - 113 184 75
อันดามัน 1,133,561 1,085,026 1,104,893 1,100,926
 ระนอง  170,335 158,343 154,448 161,919
 พังงา  263,983 271,628 275,317 274,401
 ภูเก็ต  11,849 10,593 12,327 13,446
 กระบี่  221,863 224,217 218,186 213,646
 ตรัง  228,191 204,642 220,976 211,625
 สตูล  237,340 215,603 223,639 225,889
 รวมทั้งประเทศ  1,579,593 1,458,174 1,527,761 1,534,584

 

สรุปสถานการณ์และปัญหาป่าชายเลน

               สถานการณ์ของทรัพยากรป่าชายเลนที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน[6] เห็นได้ว่าการจัดการป่าชายเลนในอดีตยังมีปัญหาข้อขัดข้องในทางปฏิบัติจำเป็น ต้องแก้ไข ปรับปรุงอีกเนื่องจาก 

                   1. พื้นที่ป่าชายเลนลดลงไปมากกว่าครึ่งจากอดีต หากสถานการณ์การใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนยังเป็นไปในทิศทางที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็คาดได้ว่าพื้นที่ป่าชายเลนจะถูกแปรสภาพเพื่อกิจการอื่นอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำบ่อเลี้ยงกุ้ง

                   2. สภาพป่าชายเลนที่เหลืออยู่ไม่อุดมสมบูรณ์ ทั้งด้านผลผลิตขั้นปฐมภูมิของระบบนิเวศในรูปของมวลชีวภาพของพืช และในด้านกำลังผลิตไม้เพื่อใช้ประโยชน์ทำเชื้อเพลิง ถ่าน หรือจากปริมาณสัตว์น้ำที่ราษฎรจับได้จากนิเวศป่าชายเลน 

                   3. ความเสื่อมโทรมของสภาพนิเวศสิ่งแวดล้อมชายฝั่งได้ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ 

                จากการรวบรวบสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในป่าชายเลน สามารถสรุปได้ว่า สาเหตุสำคัญที่ส่งผลทำให้พื้นที่ป่าชายเลนลดลงและเสื่อมโทรมอย่างมาก อาจแบ่งได้เป็น 2 ช่วง [7] คือ 

                   1. ระหว่างปี พ.ศ. 2504 – 2522 สาเหตุหลักของการทำลายป่าชายเลน ได้แก่ 

                        - เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อตัดไม้มาทำฟืนและถ่านในเชิงพาณิชย์ 
                        
                        - การทำเหมืองแร่ในป่าชายเลน 
         
                        - การสร้างท่าเรือและเขื่อน 

                   2. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 เป็นต้นไป สาเหตุหลักของการทำลายป่าชายเลน ได้แก่ 

                        - การบุกรุกเพื่อใช้ประโยชน์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น ทำนากุ้ง เพื่อการส่งออก ซึ่งมีทั้งกิจการที่มีคนไทย และคนต่างชาติเป็นเจ้าของ 

                        - การขยายพื้นที่เมือง และชุมชนอุตสาหกรรม (สิริวัฒน์ วงษ์ศิริ, ศุภชัย หล่อโหะการ บก.,2532 : 42) 

 

การปลูกป่าชายเลน[8]


1. การปลูกป่าชายเลนโดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน 

                กรมป่าไม้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 ในท้องที่จังหวัดจันทบุรีในบริเวณพื้นที่ป่าที่เสื่อมโทรม โดยดำเนินการปลูกไม้โกงกางเพื่อเป็นการทดลองปลูกในเนื้อที่เพียงเล็กน้อย และไม่ได้มีโครงการที่จะปลูกเพิ่มขึ้นในท้องที่จังหวัดอื่นด้วย แต่ก็ดำเนินการเพียงพื้นที่เล็กน้อย และเริ่มปลูกเพิ่มมากขึ้นในระยะหลังแต่พื้นที่ก็ยังไม่มาก ไม้ที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นไม้โกงกาง มีไม้โปรง ไม้ถั่วบ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย การปลูกป่าชายเลน ที่ผ่านมาเพียงปลูกเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าในบริเวณป่าที่เสื่อมโทรมยังไม่มีแผน การจัดการที่จะนำไม้ออกมาใช้ประโยชน์ เนื้อที่สวนป่าชายเลนที่ได้ดำเนินการปลูกโดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 ถึงปี พ.ศ. 2534 มีการดำเนินการในท้องที่จังหวัดจันทบุรี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล ปัตตานี กระบี่ ชุมพร ได้เนื้อที่รวมกันประมาณ 56,660 ไร่ 

2. การปลูกป่าชายเลนตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน 


                การทำไม้ตามสัมปทานได้เริ่มออกสัมปทานทำให้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 โดยให้สัมปทานระยะยาว 15 ปี ขณะนี้ป่าโครงการที่ให้สัมปทานอยู่ในรอบที่สอง (สัมปทานฉบับใหม่) จำนวน 248 ป่า เนื้อที่ประมาณ 899,755.07 ไร่ ซึ่งเมื่อทำไม้ออกตามสัมปทานแล้วแต่ละปีผู้รับสัมปทานจะต้องทำการปลูกบำรุง ป่า ทดแทน ตามเงื่อนไขสัมปทานทำไม้รอบแรกกำหนดให้ผู้รับสัมปทานปลูกป่าทดแทนเพียง 1 เท่าค่าภาคหลวง เท่านั้น จึงทำให้ปลูกป่าทดแทนได้ไม่เต็มพื้นที่ที่มีการทำไม้ออก ฉะนั้นตามสัมปทานทำไม้ฉบับใหม่ที่ทำไม้ออก ตามสัมปทานในรอบที่สอง ได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขสัมปทานให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปลูกบำรุงได้กำหนดให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการปลูกป่าชายเลนทดแทน ให้เต็มพื้นที่ในแนวตัดฟันไม้ที่ทำไม้ออกทั้งหมด แล้วยังต้องดำเนินการปลูกป่าเขตสัมปทานตามวิธีการที่กรมป่าไม้กำหนดอีกภายใน วงเงิน 3 เท่าค่าภาคหลวง พร้อมทั้งขุดแพรกเพื่อช่วยเหลือการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่ปลูก อีกด้วย ดังนั้นพื้นที่ป่าชายเลน ที่ให้สัมปทานทำไม้แล้ว รัฐจึงไม่ต้องทำการปลูกป่าชายเลนเอง เพียงแต่ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบ ควบคุมให้ผู้รับสัมปทาน ทำการปลูกป่าชายเลนให้เป็นไปตามเงื่อนไขสัมปทานโดยเคร่งครัด 

3. การปลูกป่าชายเลนโดยภาคเอกชน 

                การปลูกสร้างสวนป่าชายเลนหรือสวนป่าไม้โกงกางโดยเอกชน อยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลก้นอ่าวไทยในท้องที่จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ จนถึงชลบุรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปลูกสร้างสวนป่าไม้โกงกางเป็นอาชีพในครัวเรือน ในที่ดินกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นมรดกตกทอดต่อ ๆ กันมา จากการสอบถามประวัติความเป็นมาของราษฎรบางรายในท้องที่บ้านตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีและที่บ้านยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งได้เริ่มปลูกป่าไม้โกงกางใบเล็กเพื่อเผาถ่านและทำไม้ฟืนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 และมีราษฎร รายอื่น ๆ ทำตามติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยจำนวนเนื้อที่ที่แท้จริงของสวนป่าไม้โกงกางที่ราษฎรได้ปลูกขึ้นที่บ้าน ยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีเนื้อที่ประมาณ 16,000 ไร่ โดยดำเนินการอยู่หลายเจ้าของ และใช้ประโยชน์ไม้จากสวนป่าที่ปลูก ในการเผาถ่านเป็นส่วนใหญ่ เมื่อสวนป่ามีอายุ 8 - 12 ปี แต่ขณะนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่สวนป่าดังกล่าวทำเป็นนากุ้งไปเป็นจำนวน มากแล้ว

4. การปลูกป่าชายเลนตามโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 

                รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับภาคเอกชนจัดทำโครงการปลูกป่า ถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชปีที่ 50 นั้น กรมป่าไม้ในฐานะที่ หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการปลูกป่าได้รับมอบหมายให้จัดทำพื้นที่ เป้าหมายขึ้นเพื่อใช้เป็นพื้นที่ปลูกป่า โดยในส่วนที่เป็นพื้นที่ป่าชายเลนนั้น กรมป่าไม้ได้จัดทำพื้นที่เป้าหมายไว้ 31,724 ไร่ จำนวน 57 แห่ง อยู่ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ จำนวน 12 จังหวัด 

ตารางสรุปผลการปฏิบัติงานโครงการปลูกป่าชายเลนถาวรเฉลิมพระเกียรติ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์พระบรมราชินีนาถในวโรกาสทรงพระชนมายุ 72 พรรษา

จังหวัด
จำนวนไร่
2547
2548
2549
2550
2551
รวมพื้นที่
ภาคตะวันออกและภาคกลาง
8,000
1,900
      9,900
ระยอง
  600
1,500
1,200
810
4,110
จันทบุรี
200
1,700
1,730
800
520
4,950
ตราด
2,800
3,000
1,400
600
450
8,250
ชลบุรี
  100
330
    430
เพชรบุรี
  500
500
20
  1,020
รวมส่วนที่ 1
11,000
7,800
5,460
2,620
1,780
28,660
ภาคใต้ตอนบน
3,500
340
      3,840
นครศรีธรรมราช
1,700
1,300
1,700
2,050
2,050
8,800
พังงา
4,250
14,900
9,020
4,100
4,300
36,570
ภูเก็ต
500
800
600
500
  2400
กระบี่
2,900
10,200
6,200
3,300
2,150
24,750
รวมส่วนที่ 2
12,850
27,540
17,520
9,950
8,500
76,360
ภาคใต้ตอนล่าง
           
ตรัง
4,350
7,298
6,900
4,600
2,744
25,892
สตูล
4,250
8,100
4,800
3,280
3,850
24,280
สงขลา
    400
    400
ปัตตานี
300
500
900
800
617
3,117
หน่วยคุ้มครองฯที่ 9
        226
226
รวมส่วนที่ 3
8,900
15,898
13,000
8,680
7,437
53,915
ภาคใต้ตอนกลาง
  1,200
      1,200
ประจวบคีรีขันธ์
    500
500
  1,000
ระนอง
1,350
5,500
8,000
5,200
5,700
25,750
ชุมพร
600
2,000
500
2,050
800
5,950
สุราษฎร์ธานี
2,300
1,500
3,500
  150
7,450
รวมส่วนที่ 4
4,250
10,200
12,500
7,750
6,650
40,150
รวมพื้นที่ทั้งหมด
37,000
61,438
48,480
29,000
24,367
199,085

ที่มา : กรมทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่ง. แผนที่เเสดงกิจกรรมการปฏิบัติงานโครงการปลูกป่าชายเลนถาวรเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์พระบรมราชินีนาถในวโรกาสทรงพระชนมายุ 72 พรรษา.กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยจำกัด, 2552.



มติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับป่าชายเลน

มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับป่าชายเลน ประเภทการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลน

เรื่อง / ปี สาระสำคัญ

1.การจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ป่าชายเลน ประเทศไทย

วันที่ 15 ธันวาคม 2530

ได้จำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลนไว้ดังนี้

1. เขตอนุรักษ์ หมายถึง พื้นที่ป่าชายเลนที่หวงห้ามไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ นอกจากจะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ ได้แก่ พื้นที่แหล่งรักษาพันธุ์พืชและสัตว์น้ำที่มีค่าทางเศรษฐกิจ พื้นที่แหล่งเพาะพันธุ์และสัตว์น้ำ พื้นที่ที่ง่ายต่อการถูกทำลายและการพังทลายของดิน พื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี สถานที่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น เขตอุทยานแห่งชาติ เขตวนอุทยาน เขตแหล่งท่องเที่ยว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่า พื้นที่ป่าที่สมควรสงวนไว้เพื่อเป็นแนวป้องกันลม พื้นที่ป่าที่มีความเหมาะสมต่อการสงวนไว้เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาวิจัยและ รักษาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ พื้นที่ที่อยู่ห่างไม่น้อยกว่า 20 เมตร จากริมฝั่งแม่น้ำลำคลองธรรมชาติและไม่น้อยกว่า 75 เมตรจากชายฝั่งทะเล

2. เขตเศรษฐกิจจำเพาะ แบ่งได้เป็น

  2.1 เขตเศรษฐกิจ ก. หมายถึง พื้นที่ป่าชายเลนที่ยอมให้มีการใช้ประโยชน์เฉพาะในกิจการด้านป่าไม้ ได้แก่ พื้นที่ป่าสัมปทาน พื้นที่ป่าชายเลนนอกสัมปทานที่เหมาะสมแก่การอนุรักษ์ไว้เป็นป่าชุมชน พื้นที่สวนป่าเพื่อผลผลิตด้านป่าไม้ของรัฐบาลและเอกชน

  2.2 เขตเศรษฐกิจ ข. หมายถึง พื้นที่ป่าชายเลนที่ยอมให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินและการพัฒนาด้านอื่นๆ ได้ แต่ต้องคำนึงถึงผลดีและผลเสียทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ได้แก่ พื้นที่เกษตรกรรมเพื่อการกสิกรรม การเลี้ยงสัตว์ การประมง การทำนาเกลือ พื้นที่อุตสาหกรรม การทำเหมืองแร่ การสร้างโรงงานอุตสาหกรรม พื้นที่ที่เป็นแหล่งชุมชน แหล่งการค้า ท่าเทียบเรือ และอื่นๆ

2. การพิจารณาแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินในพื้นที่ป่าชายเลนภาคตะวันออก

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2533

1.มาตรการการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนที่ได้กำหนดไว้ในส่วนที่เป็นเขตอนุรักษ์ เขตเศรษฐกิจ ก. และ ข. ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2530 เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และควรถือเป็นบรรทัดฐานต่อไปได้

2.พื้นที่ในเขตเศรษฐกิจ ก. หรือในเขตเศรษฐกิจ ข. ที่ได้มีการทำนากุ้งหรือสร้างคันคูไว้ก่อนที่จะมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2530 สมควรผ่อนผันให้มีการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์โดยมีเงื่อนไข

3. พื้นที่ใดที่มีการจำแนกไว้เป็นเขตเศรษฐกิจ ก. แต่มิได้เป็นป่าสงวนแห่งชาติก็ให้ดำเนินการได้

4. ในเขตเศรษฐกิจ ก. หรือ ข. ที่ ได้รับการผ่อนผัน หากราษฎรรายใดไม่ยอมทำการขออนุญาตใช้ที่ดิน ตามมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หากเห็นว่าหลักฐานกรรมสิทธิ์นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ส่งเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยเคร่งครัดเป็นรายๆ ไป

เพื่อเป็นการลดความกดดันการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำนากุ้ง สมควรมีมาตรการเสริม

3. ขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2543

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2540

การผ่อนผันให้ผู้ขอประทานบัตรและผู้ถือประทานบัตรได้เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนได้ จะส่งผลกระทบไม่เฉพาะในเรื่องของระบบนิเวศวิทยาเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศด้วย โดยจะมีการยกขึ้นมาเป็นประเด็นการกีดกันทางด้านเศรษฐกิจการค้ากับประเทศไทยอยู่เสมอ หากประเทศไทยจะแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติตามมาตรการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนอย่างจริงจัง ก็จะเป็นการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจการค้ากับต่างประเทศ และจะอำนวยประโยชน์ให้กับประเทศเป็นส่วนรวม ประกอบกับการทำเหมืองแร่ในปัจจุบันน่าจะไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจจึงให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับไปเจรจากับผู้รับประทานบัตรเหมืองแร่พื้นที่ป่าชายเลน เพื่อยกเลิกประทานบัตรดังกล่าว และให้เสนอผลการเจรจาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

4. มติคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เรื่อง แก้ไขปัญหาการจัดการพื้นที่ป่าชายเลน

วันที่ 22 สิงหาคม 2543

เพื่อแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งของราษฎรที่ได้เข้าครอบครองอาศัยพื้นที่ทำกินเขตป่าชายเลน และความเดือดร้อนในกรณีการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนโดยถูกต้องตามกฎหมาย จึงได้เพิ่มเติมเงื่อนไขดังนี้

  - ให้ผู้ได้รับสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนและประสงค์จะดำเนินการต่อคงมีสิทธิ์ทำไม้ต่อไปจนสิ้นอายุสัมปทาน โดยให้กรมป่าไม้กวดขันดูแลไม่ให้การกระทำผิดเงื่อนไขสัมปทานที่กำหนดโดยเคร่งครัด หากพบว่ามีการกระทำผิดเงื่อนไขใดๆ ให้เพิกถอนทันที

  - ให้ผู้ได้รับประทานเหมืองแร่ในพื้นที่ป่าชายเลนดำเนินการต่อไปจนสิ้นอายุประทานบัตร โดยให้กรมทรัพยากรธรณีกวดขันดูแลมิให้มีการกระทำผิดเงื่อนไขประทานบัตรและเจตนารมณ์ของกฎหมาย หากพบว่ามีการกระทำผิดให้เพิกถอนประทานบัตรทันที

  - ให้คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการกำหนดอัตราและเรียกเก็บค่าเช่าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ในเขตป่าชายเลนในกรณีต่างๆ โดยคำนึงถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการใช้พื้นที่และขนาดของพื้นที่ที่ใช้ รวมทั้งผลกระทบและความสูญเสียสภาพความสมบูรณ์ของป่าชายเลนและสภาพแวดล้อมประกอบด้วย โดยให้นำรายได้จากการเก็บค่าใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวสมทบสนับสนุนการ ปลูก ฟื้นฟู และการอนุรักษ์ป่าชายเลนของกรมป่าไม้

5. คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ครั้งที่ 3/2543 เรื่องแก้ไขปัญหาการจัดการพื้นที่ป่าชายเลน

วันที่ 17 ตุลาคม 2543

1. อนุญาตให้ราษฎรเข้าไปอยู่อาศัยในเขตป่าชายเลนโดยมิได้มีเอกสารก่อนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2534 ยังคงอาศัยอยู่ต่อไปได้ แต่ไม่อนุญาตให้ทำกิน ทั้งนี้ต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ทุกปีและห้ามมิให้ออกเอกสารสิทธิใดๆ ทั้งสิ้น

2. ท่าเทียบเรือประมงที่ดำเนินการมาก่อนวันที่ 23 กรกฎาคม 2534 ให้กรมป่าไม้พิจารณาอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในเขตป่าชายเลนคราวละไม่เกิน 2 ปี แต่ทั้งนี้รวมแล้วต้องไม่เกิน 15 ปี

3. สถานที่ราชการในหมู่บ้านในเขตป่าชายเลนที่มีอยู่ก่อนวันที่ 23 กรกฎาคม 2534 ให้พิจารณาเพิกถอนสภาพป่าชายเลน

4. ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบลหรือนิติบุคคลในท้องถิ่นที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยมีคณะกรรมการป้องกันและหยุดยั้งการบุกรุกที่ดินในเขตป่าชายเลนเป็นคณะ กรรมการร่วมในการพิจารณาอนุญาตให้ราษฎรอยู่อาศัยในป่าชายเลน โดยยืนยันว่าราษฎรที่ได้รับอนุญาตนั้นเป็นผู้ที่ได้เข้ามาทำกินก่อนวันที่ 23 กรกฎาคม 2534 จริง

 

 

มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับป่าชายเลน ประเภทป้องกันการบุกรุกป่าชายเลน

เรื่อง / ปี
สาระสำคัญ

1. ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการเพาะเลี้ยงกุ้งของประเทศไทยจากการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 4

วันที่ 16 กรกฎาคม 2539

ให้กรมประมงเร่งรัดแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการเพาะเลี้ยงกุ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีผลกระทบกับป่าชายเลน

กรณีต่างประเทศมีการเผยแพร่ภาพข่าวและวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้เกิดภาพลักษณ์ทางลบต่อประเทศไทย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบแถลงข่าวข้อมูลตอบโต้แล้วจัดส่งข้อมูลให้ต่างประเทศ และให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการชี้แจงโต้ตอบและเผยแพร่ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป

2. การศึกษาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีที่มีความอ่อนไหวในทางการเมือง

วันที่ 2 ธันวาคม 2539

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้เรื่อง การยกเลิกการให้สัมปทานทำไม้ป่าชายเลน เป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนเป็นส่วนรวม รวมทั้งเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวในทางการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตีนำเข้ามูลเสนอคณะรัฐมนตรีให้ทราบในเบื้องต้น และให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาศึกษาต่อไป

3. มติคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เรื่อง การแก้ไขปัญหาการจัดการพื้นที่ป่าชายเลน

วันที่ 22 สิงหาคม 2543

มีนโยบายแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหลังแนวเขตป่าชายเลนที่ราษฎรบุกรุกและพื้นที่กรรมสิทธิ์ของเอกชน ให้กรมประมง กรมป่าไม้ และกรมควบคุมมลพิษร่วมกันดูแลและจัดให้มีระบบน้ำ ระบบบำบัด และระบบกำจัดของเสีย เพื่อรักษาสภาพป่าชายเลนและคุณภาพสิ่งแวดล้อม

4. มติคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ครั้งที่ 3/2543 เรื่อง แก้ไขปัญหาการจัดการพื้นที่ป่าชายเลน

วันที่ 17 ตุลาคม 2543

ให้กรมป่าไม้จัดการดูแลรักษาในลักษณะเป็นเขตกันชน (Buffer Zone) เพื่ออนุรักษ์ป่าชายเลนตลอดแนวชายฝั่งทะเล กว้างไม่น้อยกว่า 100 เมตรตลอดแนวชายฝั่งทะเล เพื่อฟื้นฟูให้ป่าชายเลนที่สมบูรณ์ เว้นแต่บริเวณชายฝั่งทะเลตอนใดมีลักษณะทางกายภาพที่ไม่อำนวยให้กันแนวเขตเป็นป่าชายเลนจรดฝั่งทะเลได้ถึง 100 เมตร หากปรากฎว่าในท้องที่ใดเป็นที่อยู่อาศัยของราษฎรให้อนุโลมได้

ในเขตอนุรักษ์ ห้ามมิให้อนุญาตการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนในทุกกรณี โดยรวมถึงพื้นที่ก่อสร้างสาธารณูปโภค สาธารณูปการ เพื่อก่อสร้างระบบบำบัดต่างๆ ด้วย

 

 

มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับป่าชายเลน ประเภทฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน 
เรื่อง / ปี
สาระสำคัญ

1. มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง มาตราการเร่งด่วนการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลด้านป่าชายเลนและปะการัง พ.ศ. 2535-2536

วันที่ 4 มิถุนายน 2534

1.การจัดทำแผนการจัดการป่าชายเลน ระดับจังหวัด

2.การทำเครื่องหมายแสดงแนวเขตพื้นที่ป่าชายเลน

3.การปลูกป่าชายเลนเสริมในพื้นที่ที่มีสภาพป่าเสื่อมโทรมโดยเร่งด่วน สนับสนุนการปลูกสร้างสวนป่าภาคเอกชน โดยให้ถูกหลักวิชาการ

4.เร่งรัดมาตรการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน โดยให้มีการประชาสัมพันธ์ ติดตาม ตรวจสอบอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ให้กองทัพเรือให้ความสนับสนุนในการปฏิบัติตามแนวทางการเพื่อการป้องกันและควบคุมการบุกรุกทำลายป่าชายเลนในบริเวณน่านน้ำไทย โดยให้กระทรวงเกษตรฯ แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทหารเรือเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้

2. รายงานการศึกษาสถานภาพปัจจุบันของป่าชายเลนและปะการังของประเทศ

วันที่ 23 กรกฎาคม 2534

1. รับทราบรายงานการศึกษาสถานภาพปัจจุบันของป่าไม้ชายเลนและปะการังของประเทศ ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ

2. ให้คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ รับมาตรการเด็ดขาดที่จะสามารถหยุดยั้งการทำลายป่าชายเลนของประเทศให้ได้ตามความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณา เพื่อให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม แล้วรายงานให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 30 วัน

3. ให้ระงับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนโดยเด็ดขาด โดยให้กระทรวงมหาดไทยรับไปดำเนินการสั่งการไปยังจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ให้จัดตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อหยุดยั้งการบุกรุกที่ดินในเขตป่าชายเลน และระงับการพิจารณาขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนของทางราชการ

4. ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับไปกำกับดูแลเกี่ยวกับการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ให้ระงับการให้สินเชื่อแก่โครงการต่างๆ ที่จะเป็นการบุกรุกทำลายพื้นที่ในเขตป่าชายเลน หรือเป็นโครงการที่จะเปลี่ยนสภาพป่าชายเลน

3. มติคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เรื่อง แก้ไขปัญหาการจัดการพื้นที่ป่าชายเลน

วันที่ 22 สิงหาคม 2543

1. ให้คงไว้ซื่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2534 เรื่องรายงานการศึกษาสถานภาพปัจจุบันของป่าไม้ชายเลนและปะการังของประเทศ

2. ให้นำพื้นที่ป่าชายเลนที่จำแนกออกเป็น เขตการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ป่าชายเลน พื้นที่งอกชายฝั่งทะเลที่เกิดขึ้นใหม่ ให้กรมป่าไม้กันไว้เป็นพื้นที่อนุรักษ์และฟื้นฟูมารวมเป็นพื้นที่เขตอนุรักษ์ทั้งหมด เว้นแต่บริเวณพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์ในกรณีต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ให้กรมป่าไม้จัดทำแผนที่แสดงแนวเขตอนุรักษ์ให้แจ้งชัด รวมทั้งแสดงแนวเขตพื้นที่ที่อนุญาตให้ราษฎรเข้าอาศัยทำกินเพื่อจัดเป็นเขตกันชน และจัดส่งแผนที่ที่ทำเสร็จแล้วให้หน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

3. ในพื้นที่อนุรักษ์ ห้ามมิให้อนุญาตการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนในทุกกรณีทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเปิดโอกาสให้ป่าชายเลนได้ฟื้นตัวกลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ อันจะเป็นการเกื้อกูลการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

4. ขอความเห็นชอบโครงการด้านเกษตร

วันที่ 25 กันยายน 2545

เห็นชอบและอนุมัติโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลนเทอดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงพระชนมายุ 72 พรรษา และการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลนอย่างยั่งยืน โดยใช้เงินงบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2546 ในวงเงิน 104.22 ล้านบาท

5. โครงการปลูกป่าชายเลนถาวรเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงพระชนมายุ 72 พรรษา

วันที่ 5 สิงหาคม 2546

อนุมัติงบประมาณประจำปี 2547 เพื่อดำเนินการตามโครงการปลูกป่าชายเลนถาวรเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงพระชนมายุ 72 พรรษา จำนวน 72,000 ไร่ และเนื่องจากปี พ.ศ. 2546 เป็นปีที่สิ้นสุดการให้สัมปทานทำไม้ป่าชายเลนทั้งหมดประเทศ จำต้องมีการดูแลและฟื้นฟูป่าชายเลนทดแทน


มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับป่าชายเลน ประเภทอื่นๆ

 

เรื่อง / ปี
สาระสำคัญ

1. มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง แนวนโยบายและมาตรการการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จังหวัดภูเก็ต

วันที่ 3 กรกฎาคม 2527

ให้กรมป่าไม้ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต ดำเนินการเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนโดย

1. ควบคุมการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อกิจการต่างๆ มิให้เพิ่มมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน พร้อมทั้งกวดขันมิให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน

2. จัดให้มีการฟื้นฟูป่าชายเลนที่เสื่อมสภาพและส่งเสริมให้มีโครงการปลูกสร้างสวนป่าชายเลนเพิ่มขึ้น

2. มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม เรื่อง แผนปฏิบัติการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล จังหวัดภูเก็ต บริเวณหาดป่าตอง กะรน กะตะ

วันที่ 27 สิงหาคม 2534

กำหนดให้จังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่กรณีตัวอย่างและได้ผลการศึกษามาจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเลจังหวัดภูเก็ตบริเวณหาดป่าต่อง กะรน กะตะ เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนทางสิ่งแวดล้อมที่กำลังประสบอยู่

3. มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเรื่อง แผนแม่บทการจัดการปะการังของประเทศ

วันที่ 3 มีนาคม 2535

แผนแม่บทการจัดการปะการังของประเทศ เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากแนวปะการังในกิจกรรมต่างๆ เกิดความสมดุลและสอดคล้องกับคุณค่าทางนิเวศวิทยาและคุณค่าทางเศรษฐกิจ ลดปัญหาความเสื่อมโทรมของปะการัง ตลอดจนป้องกันและรักษาแนวปะการังที่ยังมีอยู่ให้เป็นมรดกทางธรรมชาติของประเทศ

4. มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง นโยบายและแผนการจัดการสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2537

วันที่ 27 เมษายน 2536

ดำเนินโครงการ/มาตรการเสริมภายใต้ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มโครงการสร้างจิตสำนึก กลุ่มโครงการเฝ้าระวังและป้องกัน กลุ่มโครงการฟื้นฟูและบำบัด และกลุ่มโครงการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติ

ให้จังหวัดต่างๆ จัดทำแผนปฏิบัติจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัด จะช่วยสนับสนุนนโยบายการกระจายในการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปสู่ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น รวมทั้งนโยบายการระดมความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐบาล ภาคเอกชน ชุมชน และประชาชนในพื้นที่ ทำให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยดี สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงในท้องถิ่นและทันต่อเหตุการณ์

5. มติคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ครั้งที่ กพต.2/2540

วันที่ 15 กรกฎาคม 2540
กำหนดผังการใช้ที่ดินระดับอนุภาค
 
การกำหนดมาตรการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

การฟื้นฟูบูรณะแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อ่าวพังงา กระบี่ ภูเก็ต และทะเลรอบเกาะ
สมุย

การพัฒนาอุทยานแห่งชาติเขาสด จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นโครงการตัวอย่างในการจัดการด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

กำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา หมู่เกาะสุรินทร์ และหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา เป็นแหล่งมรดกโลก

การแปรแผนสู่ปฏิบัติเพื่อพัฒนาพื้นที่สามเหลี่ยม บางสะพาน-ชุมพร-ระนอง สำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากเหล็ก อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร และแหล่งท่องเที่ยว 

 
 
มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับป่าชายเลนที่สิ้นสภาพแล้ว

 

เรื่อง / ปี
สาระสำคัญ

1. นโยบายการอนุญาตทำไม้ป่าชายเลนโดยให้สัมปทานระยะยาว

วันที่ 4 มกราคม 2509

เปลี่ยนแปลงนโยบายการอนุญาตทำไม้กระยาเลยป่าเลนจากวิธีการอนุญาตรายย่อยหรือผูกขาด ในระยะสั้น เป็นการอนุญาตให้สัมปทานระยะยาวเต็มรอบตัดฟันตามโครงการ คือให้มีการทำไม้ตามกำลังผลิตของป่า โดยกำหนดผู้รับสัมปทานเฉพาะผู้ที่ภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่จังหวัดแห่งป่านั้น

2. รายงานประเมินผลกระทบที่มีต่อสภาพแวดล้อมของป่าชายเลนของโครงการพัฒนาแหล่งชุมชน และสะพานเทียบเรือ หมู่บ้านตำมะลัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล

วันที่ 27 มิถุนายน 2521

1. การอนุญาตให้สร้างท่าเทียบเรือประมง หรือการพัฒนาเพื่อกิจการอื่นในอนาคต ควรจะได้ดำเนินการในพื้นที่ป่าชายเลนเท่าที่จำเป็นจริงๆ และควรเลือกพื้นที่ให้มีการตัดถนนผ่านพื้นที่ป่าชายเลนไปยังท่าเทียบเรือให้น้อยที่สุด

2. ไม่ควรให้มีการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ หรือพัฒนาเป็นแหล่งชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน

3. การจัดทำโครงการพัฒนาใดๆ ที่มีการใช้ประโยชน์หรือแปรสภาพทรัพยากรธรรมชาติ ควรให้มีคณะกรรมการทรัพยากรธรรมชาติชายเลนแห่งชาติและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเข้าร่วมอยู่ด้วย

3. มาตรการการใช้ประโยชน์ในป่าชายเลน

วันที่ 19 สิงหาคม 2523

ในกรณีที่มีความจำเป็นจริงๆ ที่อนุญาตให้โครงการพัฒนาใดๆ ใช้ป่าชายเลนที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติต้องปฏิบัติตามมาตรการ ดังต่อไปนี้

1. ให้มีการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศของบริเวณป่าชายเลนแห่งนั้น ก่อนที่จะมีการดำเนินการตามโครงการ

2. มิให้มีการถอนสภาพป่าบริเวณที่จัดทำโครงการ เพียงแต่อนุญาตให้ใช้พื้นที่บริเวณนั้นตามโครงการที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

3. มิให้มีการออก สค.1 นส.3 โฉนดหรือเอกสารสิทธิ์การใช้ประโยชน์ที่ดินแก่ราษฎรที่เข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณนั้น

4. เจ้าของโครงการพัฒนาจะต้องทำการประเมินผลกระทบ ตามที่คณะกรรมการ ทรัพยากรธรรมชาติชายเลนแห่งชาติกำหนดไว้

4. ขอให้พิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการการใช้ประโยชน์ป่าชายเลน

วันที่ 29 มิถุนายน 2525

ผ่อนผันไม่นำมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2523 เกี่ยวกับมาตรการการใช้ประโยชน์ในป่าชายเลนข้อ 2 มาใช้บังคับแก่กรณีที่มีส่วนราชการต่างๆ เข้าใช้ประโยชน์ในป่าชายเลนที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติในลักษณะเป็นการถาวร โดยเห็นควรให้มีการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ป่าชายเลนที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติเท่าที่จำเป็น และให้มีการกำหนดขอบเขตไว้โดยชัดเจน

5. มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง ข้อเสนอแนะจากแนวทางดำเนินการและมาตรการปฏิบัติจากรายงานสถานการณ์สิ่งแวด ล้อม ปี พ.ศ. 2523

วันที่ 1 มีนาคม 2526

ข้อเสนอและแนวทางแก้ไขปัญหารวม 11 เรื่อง คือ ป่าไม้ ป่าชายเลน ที่ดิน ทรัพยากรทางทะเล แร่ธาตุ มลพิษทางน้ำ มลพิษทางดิน มลพิษทางอากาศและเสียงจากยานพาหนะที่พบในเขตกรุงเทพฯ ขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลสารเป็นพิษ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและศิลปกรรม

6. นโยบายการอนุญาตทำไม้ป่าเลนโดยให้สัมปทานระยะยาว (15 ปี)

วันที่ 9 สิงหาคม 2526

พิจารณาอนุญาตการทำไม้ป่าชายเลนโดยให้สัมปทานระยะยาว โดยวิธีประมูลเฉพาะคนไทยในจังหวัดที่ไม้ป่าชายเลนนั้นอยู่ในเขตหรือคนไทยในจังหวัดใกล้เคียง

7. ข้อเสนอแนะจากการสัมมนาระบบนิเวศวิทยาป่าชายเลน ครั้งที่ 4

วันที่ 1 พฤษภาคม 2527

1. กระทรวงเกษตรฯ ควรกำหนดเขตการใช้พื้นที่ป่าชายเลนให้แน่นอน ซึ่งอาจกำหนดเป็นสามเขต คือ เขตสงวน เขตอนุรักษ์ และเขตพัฒนา และให้มีกฎหมายรองรับ

2. ส่งเสริมและเร่งรัด ให้มีการศึกษาวิจัยระบบนิเวศน์อย่างสมบูรณ์ เพื่อให้ทราบข้อมูลพื้นฐานของสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในวงจรระบบนิเวศน์ป่าชายเลน ศึกษาความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยกำหนดวิธีการศึกษาให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันและให้มีการตั้งศูนย์วิจัยป่า ชายเลน โดยให้กรมป่าไม้ดำเนินการร่วมกันกับสำนักงาน คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และกรมประมง

3. ควรให้มีการฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน โดยการส่งเสริมการปลูกสร้างสวนป่าชายเลนให้มากขึ้น ทั้งภาครัฐและเอกชน และควรสนับสนุนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติชายเลนผสมการพัฒนาสัตว์น้ำ

8. การพิจารณาแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินในพื้นที่ป่าชายเลนภาคตะวันออก

วันที่ 20 ธันวาคม 2531

เนื่องจากพื้นที่ป่าชายเลนในเขตอนุรักษ์ในภาคตะวันออกมีจำนวนน้อยมาก จึงเห็นควรให้เป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่หวงห้ามไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ใดๆ นอกจากจะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติเพื่อรักษาไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ และผู้ได้รับอนุญาตก่อนวันที่ 15 ธันวาคม 2530 ในเขตเศรษฐกิจ ก. ให้สิ้นสุดในวันที่ 15 ธันวาคม 2536 โดยไม่ให้ผ่อนผันต่อไปอีก

9. การสงวนและคุ้มครองป่าชายเลน

วันที่ 1 สิงหาคม 2532

1. รักษาพื้นที่ป่าชายเลนที่เหลืออยู่ในปัจจุบันไว้ให้ได้ทั้งหมด และฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน ตลอดแนวชายฝั่งทะเลและหาดเลนงอกใหม่

2. จัดระบบการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนในปัจจุบันให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

3. ป้องกันและปราบปรามการบุกรุกป่าชายเลนที่เหลืออยู่

4. รณรงค์ให้ประชาชนและผู้บุกรุกป่าชายเลนเข้าใจถึงความสำคัญของป่าชายเลนและให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์ป่าชายเลน ภายในเวลา 5 ปี

ข้อเสนอะแนะจากการสัมมนาระบบนิเวศป่าชายเลน ครั้งที่ 6

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2533

1. ให้บรรจุแผนพัฒนาป่าชายเลนไว้ในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

2. จัดทำแผนปฏิบัติในเรื่องการจัดการ และการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนในระดับจังหวัด

3. สนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียมในการวิจัยและการจัดการ

4. เร่งรัดให้มีการปลูกป่าชายเลนและส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์ไม้

5. ให้มีมาตรการป้องกันและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม บริเวณป่าชายเลนและชายฝั่งทะเลโดยรอบ

6. ให้จัดตั้งศูนย์รวบรวมข้อมูล เกี่ยวกับระบบนิเวศน์ป่าชายเลนระดับประเทศขึ้น

7. สนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากร ป่าชายเลนประชาชนทุกระดับ

8. ให้เพิ่มอัตรากำลัง และงบประมาณในด้านการจัดการทรัพยากรป่าชายเลน

มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง นโยบาย มาตรการ และแผนปฏิบัติการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเลของประเทศ

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2535

1. นโยบาย มาตรการ และแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

   ส่วนที่ 1 นโยบายและมาตรการ ด้านดินและการใช้ที่ดิน ด้านแหล่งน้ำและคุณภาพน้ำ ด้านแนวปะการัง ด้านป่าชายเลน ด้านการประมงและเพาะเลี้ยง ด้านแร่ธาตุ ด้านชุมชนเมือง อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว

   ส่วนที่ 2 แนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล ในหัวข้อเรื่องดังนี้ การจัดการใช้ประโยชน์ที่ดิน การจัดการคุณภาพน้ำ การจัดการขยะมูลฝอย การจัดการปะการัง การจัดการป่าชายเลน การจัดการประมงและเพาะเลี้ยง การสร้างจิตสำนึกและประชาสัมพันธ์ การพัฒนาระบบการบริหารและการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง

2. แผนปฏิบัติการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเลของประเทศไทย โดยแบ่งแผน งานออกเป็นกลุ่มที่มีลำดับความสำคัญตามความเร่งด่วนของปัญหา

การยกเลิกการให้สัมปทานทำไม้ในเขตป่าไม้ชายเลน
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2539

1. เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรสหกรณ์ดำเนินการตามนัยมาตรา 68 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 โดยสั่งการให้สัมปทานทำไม้ป่าชายเลนทุกสัมปทานสิ้นสุดลงทั้งแปลง

2. เห็นชอบมาตรการและแนวทางปฏิบัติในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนตามกระทรวงเกษตร และสหกรณ์เสนอโดยกำหนดพื้นที่ป่าชายเลนทั่วประเทศออกเป็น 3 เขต รวมเนื้อที่ประมาณ 2,327,800 ไร่ กำหนดเนื้อที่เขตอนุรักษ์ไว้ประมาณ 266,737 ไร่

มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง สถานภาพปัจจุบันของป่าชายเลนและแผนการจัดการป่าชายเลนของประเทศ

วันที่ 7 ตุลาคม 2540
แผนการจัดการป่าชายเลนของประเทศ ประกอบด้วย 4 แผนงาน ได้แก่

1. การสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม

2. การป้องกัน ปราบปราม และเฝ้าระวังการบุกรุกป่าชายเลน

3. การฟื้นฟูและบำบัด

4. การศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติ แบ่งเป็นแผนรายภาค 3 แผน

   4.1 แผนการจัดการป่าชายเลนของภาคกลาง ประกอบด้วย 5 จังหวัด คือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์

   4.2 แผนการจัดการป่าชายเลนของภาคตะวันออก ประกอบด้วย 5 จังหวัด คือ ตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา

   4.3 แผนการจัดการป่าชายเลนของภาคใต้ ประกอบด้วย 12 จังหวัด คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนเพื่อกู้เรือประสบภัย
วันที่ 4 เมษายน 2548

การแก้ไขปัญหาชองชาวประมงที่ได้รับความเดือดร้อนจากธรณีพิบัติภัย ถือเป็นกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน จึงอนุมัติผ่อนผันให้ไม่ต้องนำมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2534 เรื่อง การศึกษาสภาพปัจจุบันของป่าไม้ชายเลนและปะการังของประเทศ และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2543 เรื่อง มติคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เรื่อง การแก้ไขปัญหาการจัดการพื้นที่ป่าชายเลน มาใช้บังคับกรณีที่จะให้ชาวประมงใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลอง ทุ่มมะพร้าวเพื่อกู้เรือประมงที่ประสบภัยเป็นระยะเวลา 4 เดือน (กุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2548) เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

ที่มา : ทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่ง, กรม.มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับป่าชายเลน.กรุงเทพมหานคร:องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2552.



ที่มา
กลุ่มระบบงานและฐานข้อมูล กองการอนุญาต. กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. เข้าถึงได้จาก http://www.forest.go.th/permission/mangrove.html.

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. เข้าถึงได้จาก http://www.deqp.go.th/coastline/plan/.

[1] สิ่งแวดล้อมทะเลไทย. เข้าถึงได้จาก http://www.phangngacity.com/environ2.htm

[2] โรงเรียนบางตาบุญวิทยา. เข้าถึงได้จาก http://bangtaboon.org/mangrove_eco.HTM

[3] คลังปัญญาไทย. ประโยชน์ของป่าชายเลน. เข้าถึงได้จาก http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/

[4] การแพร่กระจายป่าชายเลนในประเทศไทย. เข้าถึงได้จาก past.talaythai.com/Education/42620260e/42620260e.php3

[5] มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง สถานภาพปัจจุบันของป่าชายเลน และแผนการจัดการป่าชายเลนของประเทศ. เข้าถึงได้จาก http://www.ryt9.com/s/cabt/203716/  

[5] สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. กระทรวงมรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. เข้าถึงได้จาก http://www.onep.go.th/env_data/2016/01_32/

[6] กรมป่าไม้. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. ดัดแปลงจาก http://www.forest.go.th/Research/Knowledge/MF-MGT.html

[7] สิ่งแวดล้อม. ความหลากหลายทางชีวภาพกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน. ดัดแปลงจากhttp://www.tungsong.com/Environment/Bio/Chaladchay/Bio_04_q.asp

[8] กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. ประวัติการปลูกป่าชายเลนในประเทศไทย. เข้าถึงได้จาก http://www.forest.go.th/mgrove/Replant.html

 

 

 

 

 

 


bottom

top

Latest News

Popular


bottom