เกลือเป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง มีชื่อทางเคมีว่า “โซเดียมคลอไรด์” (NaCl) มี ลักษณะเป็นผลึกสีขาว รสเค็ม เกลือเป็นอาหารธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ และสัตว์มาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน มนุษย์ต้องบริโภคเกลือประมาณวันละ 5-10 กรัม เพื่อนำไปช่วยรักษาสมดุลของน้ำในร่างกายให้เซลล์เนื้อเยื่อต่างๆ ทำงานอย่างปกติ นอกจากนี้เกลือยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ได้มากมายเช่น ปรุงอาหาร ถนอมอาหาร ผสมกับน้ำแข็งเพื่อเพิ่มความเย็น ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสารเคมีต่างๆ ได้แก่ โซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต (NaHCO3) หรือโซดาทำขนมโซเดียมคาร์บอเนต (NaCO3) หรือโซดาแอส โซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) หรือโซดาไฟ และ ไฮโดรคลอริก(HCl) หรือกรดเกลือ เป็นต้น
ประเภทของเกลือ
การผลิตเกลือของประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ เกลือทะเลหรือเกลือสมุทรและเกลือหินหรือเกลือสินเธาว์ โดยแต่ละประเภทมีที่มาแตกต่างกัน ดังนี้
1. เกลือทะเลหรือเกลือสมุทร (Sea Salt) คือเกลือที่ผลิตขึ้นโดยการนำน้ำทะเลขึ้นมาตากแดดให้น้ำระเหยไปเหลือแต่ผลึก เกลือตกอยู่ (Solar Evaporation System) เกลือ ประเภทนี้มีการผลิตและการใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณและถือเป็นอาชีพเก่าแก่อาชีพ หนึ่งของโลกและของคนไทย โดยได้มีการกำหนดเป็นสินค้าเกษตรกรรมขั้นต้นตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการ เกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509
2. เกลือหินหรือเกลือสินเธาว์ (Rock Salt) คือเกลือที่ทำจากดินที่น้ำชะดินละลายแล้วแห้งปรากฎเป็นคราบเกลือติดอยู่บนผิว ดิน เรียกว่า “ส่าดิน” เมื่อน้ำผิวดินหรือส่าดินมาละลายน้ำ แล้วต้มจะได้เกลือสินเธาว์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 ได้มีการค้นพบเกลือหินที่อยู่ใต้ดินในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้รูปแบบการผลิตเกลือสินเธาว์เปลี่ยนแปลงไปเป็นการใช้เกลือหินแทน โดยใช้วิธีฉีดน้ำลงไปละลายเกลือในบ่อเกลือ หรือใช้วิธีสูบน้ำเกลือใต้ดินขึ้นมาตากแดด หรือโดยการต้มเพื่อให้ได้ตะกอนเกลือ และหากใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยสามารถผลิตได้ตลอดปี
ปัจจุบัน เกลือหินได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายและเป็นคู่แข่งกับเกลือทะเล เพราะสามารถใช้ทดแทนกันได้ แต่เกลือหินมีข้อแตกต่างจากเกลือทะเลที่ไม่มีธาตุไอโอดีน (ป้องกันโรคคอหอยพอกและโรคเอ๋อ) และได้ถูกกำหนดเป็นสินค้าอุตสาหกรรมตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510
การผลิตเกลือทะเลหรือเกลือสมุทร
การทำเกลือทะเลต้องใช้น้ำทะเลเป็นวัตถุดิบ ดังนั้นแหล่งผลิตจึงต้องอยู่บริเวณใกล้ชายฝั่งทะเล ถึงแม้ประเทศไทยจะมีชายฝั่งทะเลยาวถึง 2,600 กิโลเมตร แต่แหล่งที่เหมาะสมสำหรับการผลิตเกลือทะเลมีค่อนข้างจำกัดคือ ต้องมีลักษณะทางภูมิประเทศเป็นที่ราบ สภาพดินต้องเป็นดินเหนียว สามารถอุ้มน้ำได้ดีป้องกันไม่ให้น้ำเค็มซึมลงไปใต้ดิน และป้องกันไม่ให้น้ำจืดซึมขึ้นมาบนดิน มีกระแสลมและแสงแดดช่วยในการตกผลึกเกลือ
1. กลุ่มที่มีการผลิตมาก ประมาณร้อยละ 90.0 ของผลผลิตทั้งประเทศ อยู่ที่ 3 จังหวัดภาคกลาง คือ จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม
2. กลุ่มที่มีการผลิตเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 10.0 ของผลผลิตทั้งประเทศ อยู่ที่ 4 จังหวัดในภาคกลางและภาคใต้ คือ จังหวัดชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และปัตตานี
ประเทศไทยมีพื้นที่ทำนาเกลือทั้งหมดประมาณ 81,485 ไร่ โดยจังหวัดเพชรบุรีมีพื้นที่มากที่สุด ร้อยละ 47.0 รองลงมาได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร ร้อยละ 43.1 จังหวัดสมุทรสงคราม ร้อยละ 7.7 จังหวัดชลบุรี ร้อยละ 1.0 จังหวัดจันทบุรี ร้อยละ 0.6 จังหวัดปัตตานี ร้อยละ 0.4 และจังหวัดฉะเชิงเทรา ร้อยละ 0.2 ตามลำดับ
การทำนาเกลือในภาคกลางจะเริ่มในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน ถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป ระยะเวลาประมาณ 6-7 เดือน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเนื่องจากการทำนาเกลือไม่สามารถจะทำได้ในช่วงฤดูฝน และจะเริ่มเก็บผลผลิตเกลือได้ประมาณกลางเดือนมกราคม เป็นต้นไป
สำหรับการนำเกลือในภาคใต้ที่จังหวัดปัตตานี มีระยะเวลานานกว่าภาคกลางโดยสามารถผลิตได้ปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกเริ่มประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน ประมาณ 5 เดือน และครั้งที่สองเริ่มประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน ประมาณ 3 เดือน รวมมีช่วงการผลิตประมาณ 8 เดือน ส่วนในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม จะมีฝนตกชุกไม่สามารถทำนาเกลือได้
ผลผลิตเกลือทะเลในสภาพอากาศปกติ โดยเฉลี่ยทั้งประเทศมีประมาณปีละ 990,000 ตัน(ผลผลิตปี 2550 - 2553) ผลผลิตจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพอากาศว่าปีใดมีฝนตกมากหรือน้อย
ต้นทุนการผลิตเกลือทะเล ส่วนใหญ่จะเป็นต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงาน รองลงมาเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับวัตถุดิบที่ใช้ผลิตคือน้ำทะเลไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยประมาณ 737 บาทต่อตัน
1. สัตว์น้ำทะเลต่างๆ เกษตรกรชาวนาเกลือที่มีพื้นที่กักเก็บน้ำทะเล (วัง) ก็จะมีสัตว์น้ำทะเลต่างๆ เช่น กุ้งขาว กุ้งแชบ๊วย ปลาหมอเทศ ปลากระพง ปูทะเล ฯลฯ อยู่ภายในวัง เป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบธรรมชาติเพื่อเป็นรายได้เสริมทางหนึ่ง
2. น้ำเค็ม เนื่องจากน้ำในนาเกลือมีความเค็มมากกว่าน้ำทะเล เกษตรกรชาวนาเกลือสามารถจำหน่ายน้ำเค็มให้กับเกษตรกรชาวนากุ้ง เพื่อนำไปผสมกับน้ำปกติเพื่อใช้เพาะเลี้ยงกุ้ง
3. เกลือจืด (ยิปซั่ม) เกลือจืดหรือยิปซั่มเป็นสินแร่ที่เกิดในนาเกลือเฉพาะแปลงที่ใช้กักเก็บน้ำแก่ (นารองเชื้อและนาเชื้อ) เกลือจืดจะเกิดอยู่บนหน้าดิน เกษตรกรชาวนาเกลือจะทำเกลือจืดในฤดูฝน หลังจากหมดฤดูทำนาเกลือแล้ว โดยจะขังน้ำฝนไว้ในแปลงนาที่มีเกลือจืด แล้วรวบรวมเกลือจืดเข้าเป็นกองๆ จากนั้นก็จะร่อนและล้างเอาเศษดินเศษโคลนออกให้เหลือแต่เม็ดเกลือจืดที่แข็ง คล้ายทรายหยาบๆ และไม่ละลายน้ำ
การทำเกลือจืดมักเป็นงานของผู้หญิงที่รวมกลุ่มกัน 4-5 คน ช่วยกันทำ เป็นงานที่ไม่หนักเหมือนการทำนาเกลือ แต่เป็นงานที่ช้าและเสียเวลา รวมทั้งต้องแช่อยู่ในน้ำตลอดเวลาที่ทำเกลือจืด โดยปกติราคาเกลือจืดจะสูงกว่าเกลือทะเล สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตปูนปลาสเตอร์ ทำยาสีฟันชนิดผง และแป้งผัดหน้า เป็นต้น
4. ดีเกลือ การทำดีเกลือจะทำแปลงเฉพาะไม่ปนกับแปลงนาเกลือ โดยนำน้ำจากการรื้อเกลือแต่ละครั้งไปขังรวมกันไว้ ทิ้งไว้ระยะหนึ่งก็จะมีดีเกลือเกิดขึ้นเกาะอยู่ตามพื้นนา เกษตรกรชาวนาเกลือจะเก็บดีเกลือทุกวันในเวลาเช้าก่อนแดดออก (ถ้าแดดจัดดีเกลือจะละลายไปกับน้ำ) ดีเกลือชนิดนี้จะเป็นเม็ดสีขาวมีรสขม นำไปใช้ประกอบเป็นเครื่องยาไทยโบราณประเภทยาระบายหรือยาถ่าย และน้ำที่อยู่ในนาดีเกลือจะมีความเค็มจัดมากเรียกว่า “น้ำดีเกลือ” นำไปใช้เป็นส่วนประกอบในการทำเต้าหู้ เป็นสารทำให้เต้าหู้แข็งตัว
5. ขี้แดด เป็นส่วนที่อยู่บนผิวดินของนาเกลือ มีลักษณะเป็นแผ่นร่อนอยู่บนผิวนา ซึ่งเกษตรกรชาวนาเกลือต้องทำการเก็บขี้แดดก่อนทำการบดดินตอนต้นฤดูการทำนาเกลือ ขี้แดดนี้สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยปลูกพืชได้
การผลิตเกลือทะเลในรูปของเกลือเม็ด จะถูกรวบรวมโดยพ่อค้าคนกลางประเภทพ่อค้าท้องที่และพ่อค้าท้องถิ่น โดยพ่อค้าคนกลางจะไปรับซื้อถึงฟาร์มของเกษตรกรทั้งทางบกและทางน้ำ และในบางท้องที่เกษตรกรจะขายผ่านสหกรณ์การเกษตรที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ จากนั้นสินค้าเกลือทะเลจะไหลเวียนไปยังแหล่งต่างๆ ได้แก่ โรงโม่เกลือ โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร และโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ก่อนจะกระจายไปถึงผู้บริโภค
ตลาดเกลือทะเลภายในประเทศ เมื่อพิจารณาตามคุณภาพสินค้าที่นำเกลือทะเลไปประกอบใช้เป็นวัตถุดิบในขบวนการผลิต สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. เกลือคุณภาพสูง คือ กลุ่มที่ต้องการเกลือทะเลที่มีความบริสุทธิ์ ประมาณร้อยละ 99.9 มีสิ่งเจือปนต่ำ โดยนำไปใช้ทำประโยชน์ต่างๆ ได้แก่ การใช้ในการสร้างเรซิน การผลิตกระจก การผลิตเคมีภัณฑ์ต่างๆ และใช้ในการบริโภค
2. เกลือคุณภาพปานกลาง คือ กลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องใช้เกลือที่มีความบริสุทธิ์มากนัก ได้แก่ การนำไปใช้บริโภค การถนอมอาหาร การผลิตอาหารสัตว์ และการฟอกย้อม เป็นต้น
3. เกลือคุณภาพปานกลางถึงต่ำเป็นเกลือที่มีความบริสุทธิ์น้อยกว่าสองกลุ่มแรกและมี สิ่งเจือปนพอสมควร มักนิยมใช้ในอุตสาหกรรมบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น
สถานการณ์การผลิตเกลือ ในพ.ศ. 2559 (รูปที่ 1) พบว่า ผลผลิตเกลือทะเล ซึ่งส่วนใหญ่มีแหล่งผลิตในพื้นที่ของจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร และเพชรบุรีลดลงจากในปีก่อน (จาก 1,288,005 ตัน ลดลงเหลือ 1,015,000 ตัน) ขณะที่ราคาเกลือที่เกษตรกรขายได้มีราคาเฉลี่ยลดลงเช่นเดียวกัน (จาก 1,031 บาท/ตัน ลดลงเหลือ 754 บาท) สำหรับแนวโน้มของการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อการผลิตเกลือทะเลในอนาคตคาดว่า การใช้ประโยชน์พื้นที่ในด้านดังกล่าวจะลดลง เนื่องจากปัญหาปริมาณเกลือล้นตลาด และมูลค้าของสินค้าที่ลดลง รวมถึงปริมาณความต้องการใช้เกลือทะเลที่ลดลง (กองส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร 1, 2560)
รูปที่ 1 ผลผลิตและมูลค่าของเกลือทะเล พ.ศ. 2556 - 2559
(ดัดแปลงจาก กองส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร 1, 2560)
ผลกระทบของการทำนาเกลือต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ปัจจุบัน แม้สถานการณ์การผลิตเกลือจะมีแนวโน้มที่ลดลง แต่ในหลายพื้นที่ของจังหวัดที่ติดชายฝั่งทะเลยังคงมีการทำนาเกลือต่อไป เนื่องจากปริมาณความต้องการเกลือเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดี การทำนาเกลือถือเป็นกิจกรรมการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งทะเลรูปแบบหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมบริเวณชายฝั่งทะเล เช่น การขยายพื้นที่ทำนาเกลือรุกล้ำเข้าไปยังพื้นที่ของป่าชายเลน โดยมีการแผ้วถางพื้นที่ของ
ป่าชายเลนเพื่อนำมาทำนาเกลือ ส่งผลให้พื้นที่ของป่าชายเลนลดลง นอกจากนี้การทำนาเกลือ
ยังส่งผลทำให้ดินเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพกลายเป็นดินเค็ม ส่งผลทำให้ดินเกิดความเสื่อมโทรม และไม่สามารถนำดินมาใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะการนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรกรรม
ที่มา :
ศูนย์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. สำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. “เกลือทะเล (Solar Salt).” [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก http://surat.stkc.go.th/surat-travelguide-culturelocalwisdom-localwisdom-saltedegg-ingredients-salt สืบค้น 15 ธันวาคม 2552.
กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน. สำนักพัฒนามาตรฐานแรงงาน. 2548. รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการสำรวจงานทำนาเกลือ. กรุงเทพมหานคร : กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน
กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์. สถานการณ์เกลือทะเลเดือนธันวาคม 2553. เข้าถึงได้จาก http://agri.dit.go.th/web_dit_sec7/admin/uploadfiles/upload_files/%E0%B8%98.%E0%B8%84.53_p.pdf สืบค้นวันที่ 31 มกราคม 2554
กองส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร 1. 2560. สถานการณ์เกลือทะเลเดือนธันวาคม 2559[ออนไลน์]. กรมการค้าภายใน. แหล่งที่มา: กองส่งเสริมสินค้าเกษตร-เกลือทะเล [25 มกราคม 2560]